GMM Music บอกเลยปีนี้เซ็กเมนต์เทศกาลดนตรีไทยแข่งขันสูงมีผู้เล่นใหม่เข้าตลาดเพียบ หนุนกลุ่มธุรกิจโชว์บิซโตพุ่ง ไตรมาสแรกปี 68 ทำกำไรกว่า 46% เทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน พร้อมแผนเปิด 2 ค่ายเพลงระดับอินเตอร์ใหม่
ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2568 บริษัทฯ มุ่งบริหารธุรกิจเชิงรุกในกลุ่มธุรกิจโชว์บิซ ทั้งในรูปแบบเทศกาลดนตรี (Music Festival) ในหลากหลายพื้นที่ รวมถึงจัดคอนเสิร์ตของศิลปินในสังกัด
นอกจากนี้ ยังเตรียมจัดคอนเสิร์ตและแฟนมีทของศิลปินเกาหลี เช่น Le Sserafim Tour ‘Easy Crazy Hot’ in Bangkok, 2025 Han So Hee 1st Fanmeeting World Tour [Xohee Loved Ones,] in Bangkok และคอนเสิร์ตจากศิลปินนานาชาติ ต่างๆที่จะเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก
“โดยปกติบริษัทฯ ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า 1 -2 ปีสำหรับธุรกิจนี้ภายใต้ปัจจัยต่าง ๆ รอบด้าน ทั้งเทรนด์ของผู้ชม การวางตำแหน่งแบรนด์ ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร ซัพพลายเออร์ และการพัฒนาคุณภาพทีมงาน”
ภาวิต กล่าว
แผนงานดังกล่าว ยังสอดคล้องกับอุตสาหกรรมดนตรีและบันเทิงในไทยปี 2568 มีการขยายตัว และคาดว่าภาวะการแข่งขันในธุรกิจโชว์บิซจะแข่งขันรุนแรงยิ่งขึ้น โดยประเทศไทยจะมีการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินไทยและต่างประเทศมากกว่า 1,000 งานในปีนี้ ทั้งจากผู้เล่นรายเดิมและมีผู้เล่นใหม่ ๆ รวมตัวกันเข้ามา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม
ขณะที่ บริษัทได้เตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขัน ด้วยกลยุทธ์เชิงรุกทั้งระยะสั้น กลาง และยาว พร้อมใช้ความได้เปรียบด้านโครงสร้างบริษัท ประสบการณ์ของทีมงาน และองค์ความรู้ในธุรกิจที่มีมาอย่างยาวนาน รวมถึงการมี Big Data ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมเพลงทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจากหลากหลายมิติมาช่วยประกอบการตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ
ภาวิต กล่าวต่อว่า สำหรับธุรกิจดิจิทัลมิวสิค จะร่วมมือกับพันธมิตรในเชิงลึกเพื่อสรรหาแนวทางและโมเดลธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้เติบโตมากขึ้น รวมถึงใช้ยุทธศาสตร์เฉพาะทางในการบริหาร Back Catalog และ New Release อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างการเติบโตในกลุ่มธุรกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ธุรกิจการผลิตคอนเทนต์ บริษัทฯได้วางวางกลยุทธ์ 3 ปีล่วงหน้าพร้อมทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับ 14 ค่ายเพลงในสังกัด และเตรียมแผนจัดตั้งค่ายเพลงระดับสากลจำนวน 2 ค่ายร่วมกับ Tencent Music Entertainment (TME) และ Warner Music Asia ซึ่งพร้อมจะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้
โดยวางเป้าหมายขยายสเกลของพอร์ตโฟลิโอเพลงโดยรวมของบริษัทด้วยผลงานเพลงใหม่ ๆ ทั้งเชิงคุณภาพ และปริมาณ ไม่น้อยกว่า 500 เพลง และ 3,000 Playlists ภายในปี 68 นี้
ภาวิต กล่าวว่า ในปี 2568 GMM Music จะยังสามารถเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจได้ ไปพร้อมสร้างความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมเพลงไทย ตลอดทั้งระบบนิเวศอุตสาหกรรมดนตรีที่ยั่งยืนและครอบคลุม ตั้งแต่การพัฒนาศิลปินรุ่นใหม่ การสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่หลากหลาย การใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงผู้บริโภค และการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเพลงไทยสู่ New Music Economy ด้วยการเป็น Music Pure Play ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ
สำหรับผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2568 ของ GMM Music ยังเติบโตสวนทางกับสภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่ผันผวน มีรายได้รวม 1,073.18 ล้านบาท เติบโตเกือบ 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 155.39 ล้านบาท เติบโตขึ้น 46.84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
โดยผลการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจ 4 เสาหลักในไตรมาส 1 ปี 68 ประกอบด้วย
- กลุ่มธุรกิจดิจิทัลมิวสิค (Digital Streaming) มีรายได้ 30 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากธุรกิจ Digital Subscription จาก Platform Streaming ต่าง ๆ แม้รายได้จากการโฆษณาใน Video Streaming และ Audio Streaming Platform (Ad Revenue) จะลดลงเล็กน้อยตามภาวะการใช้เงินในตลาดที่หดตัว แต่ไม่ส่งผลกระทบกับภาพรวมของกลุ่มธุรกิจ โดยปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ คือ การเติบโตของรายได้ประจำ (Recurring Revenue) จากการบริหารจัดการลิขสิทธิ์เพลง (Music IP) อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้ง New Release หรือเพลงใหม่ และ Music Back Catalog หรือคลังเพลงฮิตจำนวนมหาศาลที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย
- กลุ่มธุรกิจบริหารลิขสิทธิ์ (Right Management) มีรายได้กว่า 42 ล้านบาท เป็นผลจากการวางกลยุทธ์ล่วงหน้า และการวางแผนงานระยะยาวร่วมกับพาร์ทเนอร์สาขาต่าง ๆ และการเติบโตของการจัดงานคอนเสิร์ตและ Music Festival ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- กลุ่มธุรกิจบริหารศิลปิน (Artist Management) ยังคงมีรายได้จากงาน Sponsorship เพิ่มขึ้นกว่า 108% ขณะที่ส่วนของงานจ้างศิลปิน (Live Show) มีอัตราการจ้างงานอยู่ในมาตรฐานเดิม ในขณะที่ส่วนของงาน Presenter และ Tailormade มีผลประกอบการลดลงเล็กน้อย เนื่องด้วยความผันผวนของเม็ดเงินการโฆษณาในแต่ละไตรมาส
- กลุ่มธุรกิจโชว์บิซ (คอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรี) ทำรายได้สูงสุดที่ 68 ล้านบาท สร้างปรากฏการณ์เติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 107.45% และจำนวนคนดูกว่า 220,000 คน ที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวหรือกว่า 100% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
โดยเป็นผลจากความสำเร็จอย่างล้นหลามของ Music Festival ระดับประเทศในช่วงไตรมาส 1 นี้ อาทิ เทศกาลดนตรี Rock Mountain, เฉียงเหนือเฟส, พุ่งใต้เฟส, นั่งเล มิวสิคเฟสติวัล และเทศกาลดนตรีที่จัดขึ้นใหม่อย่าง FAAD Festival รวมถึงคอนเสิร์ตขนาดใหญ่อย่าง Cocktail Ever Live ที่ได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้นจากแฟนเพลง
“ นอกจาก 4 เสาธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ได้อย่างมั่นคงและแข็งแรง อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ GMM Music ยังสามารถรักษาการเติบโตได้ดี คือธุรกิจใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไม่นานอย่าง BLKGEM สถาบันศิลปะบันเทิงที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง GMM Music และ Harlem Shake ซึ่งบริหารโดยครูเจด้า – อภิสราฐ์ เพชรเรืองรอง สามารถสร้างรายได้ที่เติบโตอย่างโดดเด่นถึง 83% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา”
ภาวิตเสริม
พร้อมกล่าวถึง ด้านการผลิตคอนเทนต์ GMM Music มียอดการรับชมวิดีโอและฟังเพลงเติบโตกว่า 26% เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยส่วนของการรับชมวิดีโอ มีการเติบโตถึง 22% ด้วยยอดรับชม (วิว) จาก 4,472 ล้าน เป็น 5,492 ล้าน โดยส่วนของ Back Catalog เติบโต 13%
ขณะที่ผลงานใหม่ (New Release) เติบโต 25% และส่วนของเพลงประเภท Audio เติบโต 49% ด้วยยอดรับฟัง (สตรีมมิ่ง) จาก 629 ล้าน เป็น 939 ล้าน โดยส่วนของ Back Catalog เติบโต 10% และผลงานใหม่ (New Release) เติบโต 24% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ขณะที่ ในปี 2567 GMM Music สร้างปรากฏการณ์ด้วยการสร้างรายได้รวมกว่า 4,056 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2565-2567) เฉลี่ยอยู่ที่ 15% ต่อปี และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 8.03% เมื่อเทียบกับงวดสิ้นปี 2566 โดยบริษัท ฯ มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 10.73% รักษาระดับใกล้เคียงกันกับปีที่ผ่าน ๆ มา โดยมีอัตราเติบโตของกำไรเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2565-2567) เฉลี่ย 19.53% ต่อปี
“แม้สภาพเศรษฐกิจไทยจะเกิดความผันผวนอย่างหนัก หลายธุรกิจในอุตสาหกรรมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ถูกดิสรัปต์ และ เกิดภาวะชะลอตัวทางรายได้ แต่ธุรกิจเพลงยังคงเป็นเซ็กเตอร์ในอุตสาหกรรมเอนเตอร์เทนเมนต์ที่แข็งแกร่ง เติบโตผ่านพ้นกระแสดิสรัปชั่น ด้วยความมั่นคง และปรับตัวเข้าสู่โกรทธ์ สเตจ ได้เป็นอย่างดี”
ภาวิต กล่าวทิ้งท้าย
Alternate-X สรุปให้
ในปี 2568 ไทยยังจัด Music Festival และคอนเสิร์ตไทย–ต่างประเทศกว่า 1,000 งาน แม้เศรษฐกิจผันผวน สอดคล้องอุตสาหกรรมดนตรีไทยยังเติบโตเห็นได้จากผลดำเนินงน GMM Music ไตรมาสแรกกำไรพุ่ง 46% พร้อมเตรียมเปิด 2 ค่ายเพลงระดับอินเตอร์กับ Tencent Music และ Warner Music Asia ขณะที่ธุรกิจ กลุ่มโชว์บิซ (คอนเสิร์ต & เทศกาลดนตรี) โตแรง 107% มีผู้ชมกว่า 220,000 คน ขับเคลื่อนโดยเทศกาลดนตรีระดับชาติ ส่วนธุรกิจดิจิทัลมิวสิค รายได้เติบโตจาก Subscription และ Back Catalog พร้อมวางกลยุทธ์บริหารลิขสิทธิ์เพลงอย่างยาว โดย GMM Music ยังมุ่งสร้าง New Music Economy ด้วย Big Data, คอนเทนต์คุณภาพ และพันธมิตรระดับโลก