เพราะคนงานได้พักผ่อนน้อย ถูกเอาเปรียบจากค่าจ้าง ชนวนสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุค2 พร้อมประท้วงนายจ้างขอทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน กระทั่งถึงในปัจจุบันแนวทางการทำงานเปลี่ยนไปสู่ยุคดิจิทัล ที่ยังต้องการชีวิตสมดุลการทำงาน
1 พ.ค. ‘วันแรงงานสากล’ May Day เป็นวันสำคัญอย่างยิ่งยวดของชนชั้นคนทำงานนับจากอดีตที่มีจุดเริ่มต้นกว่า 139 ปีก่อน ที่แม้ว่ากาลเวลาจะล่วงมาถึงการทำงานในยุคดิจิทัลในวันนี้ ที่เชื่อว่าใครหลายคนยังมองหา Work Life Balance กันอยู่ และเช่นเดียวกับนายจ้างในแทบทุกยุคสมัยต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ไม่เชื่อมั่นในคำนี้’ แถมยังมีเจ้านายบางคนบอกอีกว่า คำนี้ไม่มีอยู่จริง!!
หากย้อนที่มา จุดเริ่มต้นของวันแรงงาน มาจากการเคลื่อนไหวของกรรมกรในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1886 ซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม (Industrial Era) อย่างเต็มตัว หรือที่เรียกว่า Second Industrial Revolution ซึ่งมีการเติบโตของโรงงาน เกิดระบบสายพานการผลิต (assembly line) ทำให้มีการใช้แรงงานจำนวนมากในเมืองใหญ่
ขณะที่ การตั้งสหภาพแรงงานและเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ อย่าง ‘วันแรงงาน’ เริ่มจากเหตุการณ์ Haymarket Affair ในชิคาโก ปี 1886 จากนักเคลื่อนไหวระดับสากล ‘Peter J. McGuire’ บุคคลที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด และถือเป็นผู้จุดประกาย ในวงการนี้
ภาพ chicagocop.com
ต่อการการรวมกันประท้วงในครั้งนั้นที่เรียกว่า ‘เหตุการณ์เฮย์มาร์เก็ต’ เพื่อเรียกร้องสิทธิในการทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง และยังนำไปสู่ความรุนแรงมีผู้เสียชีวิตของผู้ชุมนุมหลายคน
เหตุการณ์ในครั้งนั้นยังได้จุดกระแสแรงงานไปทั่วโลก จนสหภาพแรงงานนานาชาติได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นวันแรงงานสากลเพื่อรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิพื้นฐานของแรงงาน
จุดเปลี่ยนสู่การยอมรับในระดับโลก
หลังเหตุการณ์เฮย์มาร์เก็ต การเคลื่อนไหวของแรงงานขยายตัวออกไปยังยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ที่หลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับสิทธิแรงงาน เช่น
- การกำหนดชั่วโมงการทำงานขั้นต่ำ
- ค่าจ้างที่เป็นธรรม
- สวัสดิการที่จำเป็น
ขณะที่ จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ เมื่อรัฐบาลและภาคธุรกิจเริ่มยอมรับว่า ‘แรงงาน’ คือรากฐานของเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้วันแรงงานกลายเป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศทั่วโลก และมีการจัดกิจกรรมเพื่อยกย่องแรงงานในหลากหลายรูปแบบ
69 ปี ‘วันกรรมกรแห่งชาติ’
สำหรับในประเทศไทย ได้เริ่มให้ความสำคัญกับแนวคิดวันแรงงานหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทผลักดันแนวคิดนี้เข้าสู่สังคมไทยอย่างเป็นทางการ
โดยรัฐบาลประกาศให้วันที่ 1 พฤษภาคมเป็น ‘วันกรรมกรแห่งชาติ’ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 เพื่อยกย่องแรงงานไทยว่าเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงเป็นการรับรองสิทธิของผู้ใช้แรงงานตามมาตรฐานสากล
Welcome แรงงานยุคใหม่โลกดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้การเดินทางของวันแรงงานสากลล่วงมาร่วม 139 ปีถึงในโลกยุคปัจจุบัน พร้อมเปลี่ยนผ่านจากยุคอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างชัดเจน ขณะที่คนทำงาน ไม่จำกัดแค่ในโรงงานหรือสำนักงานอีกต่อไป
ขณะที่ ‘แรงงาน’ ในวันนี้ ที่ยังรวมถึงนักสร้างสรรค์ นักเขียนโค้ด ฟรีแลนซ์ และ Digital Nomads ผู้เดินทางพร้อมงานในกระเป๋า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ผลักดันแนวคิด Work-Life Balance ให้เด่นชัดขึ้น
โดยแรงงานยุคใหม่เลือก ‘คุณภาพชีวิต’ ความยืดหยุ่นกลายเป็นปัจจัยสำคัญของงาน ขณะที่ความมั่นคงและสวัสดิการ เองยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ของแรงงาน ทั้งในระบบและนอกระบบในวันที่โลกเชื่อมถึงกันหมด
Alternate-X สรุปให้
1 พฤษภาคมคือวันแรงงานสากล เริ่มจากการเรียกร้องสิทธิแรงงานในสหรัฐฯ ปี 1886 เหตุการณ์เฮย์มาร์เก็ตนำไปสู่การกำหนดวันแรงงาน เพื่อเรียกร้องชั่วโมงทำงานที่เป็นธรรม ขณะที่ประเทศไทยรับแนวคิดนี้อย่างเป็นทางการในปี 2499 สมัยจอมพล ป. จากยุคอุตสาหกรรมสู่ยุคดิจิทัล แนวคิดเรื่องแรงงานเปลี่ยนจากสายพานสู่ความยืดหยุ่น Digital Nomad และ Work-Life Balance ยังเป็นสิ่งที่แรงงานรุ่นใหม่ในโลก ให้ความสำคัญอยู่