คนไทยมี 66 ล้านคน สถิติปีก่อนมีผู้บริจาคโลหิตกว่า 2% ห่วงอนาคตเจนฯ Z ความต้องการเลือดสูง

3 องค์กรชวนเจนฯZ บริจาคโลหิตทุก 3 เดือนเพื่ออนาคต หลังพบสถิติบริจาคเลือดในปี’67 อยู่ที่ 1.63 ล้านคน พร้อมใช้แคมเปญฯโปรเจกต์ ‘Blood Connect-เลือดเชื่อมชีวิต ให้ทุกชีวิตได้ไปต่อ’ ผ่านกลยุทธ์การตลาดทัชใจคนรุ่นใหม่ให้มีส่วนร่วม

 

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะกรรมการจัดหาและส่งเสริมผู้ให้โลหิตแห่งสภากาชาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์และสถิติการบริจาคโลหิตในไทย ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติในปี 2566 และปี 2567 มีประชากรที่บริจาคโลหิตเพียง 1.63 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 2.47% ของประชากรประเทศไทย 66 ล้านคน

“ผู้บริจาคเลือดในปี 2566 มีจำนวน 2,818,774 ยูนิต คิดเป็น 3.7% หรือประชากร 1,000 คน จะมีผู้บริจาคโลหิตเพียง 37 คนเท่านั้น”

 

ขณะที่สถิติความถี่ในการบริจาคโลหิตเมื่อปี 2567 พบว่า ผู้บริจาคโลหิตปีละ 4 ครั้ง มีเพียง 4.5% ส่วนผู้บริจาคโลหิตปีละ 1 ครั้ง มีมากถึง 67% หากมีผู้บริจาคโลหิตประจำทุก 3 เดือน หรือปีละ 4 ครั้งเพิ่มมากขึ้น จะทำให้มีโลหิตเพียงพอสำหรับผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอตลอดปี

 

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงประสบศรี กล่าวว่า ขณะที่ปัจจุบันกลุ่มเยาวชน Gen Z  นับเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่สามารถบริจาคโลหิตได้อย่างยั่งยืนต่อไป     ในอนาคต สอดคล้องกับพฤติกรรมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ที่ชื่นชอบและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของสังคม

 

ทั้งนี้ หากเริ่มต้นเป็นผู้บริจาคโลหิตตั้งแต่อายุ 17 ปีบริบูรณ์ จะมีช่วงระยะเวลาบริจาคโลหิตได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่จากสถิติการบริจาคโลหิตที่น่าสนใจของกลุ่มเยาวชน ที่มีอายุระหว่าง 17-20 ปี ระหว่างปี 2566 – 2567  คิดเป็นสัดส่วน 10% จากผู้บริจาคโลหิตในทุกช่วงอายุ

 

โดยในปี 2566 มีเยาวชนบริจาคโลหิต จำนวน 167,478 คน จากผู้บริจาคโลหิต 1.63 ล้านคน ขณะที่ปี 2567 มีเยาวชนบริจาคโลหิต จำนวน 162,170 คน จากผู้บริจาคโลหิต 1.65 ล้านคน

 

ด้าน ดร.ลักขณา ลีละยุทธโยธิน ประธานอนุกรรมการรณรงค์เพิ่มผู้บริจาคโลหิต ในคณะกรรมการจัดหา และส่งเสริมผู้ให้โลหิตแห่งสภากาชาดไทย ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่าจากสถิติดังกล่าว ได้นำไปสู่การทำโครงการในรูปแบบ Public Service Advertising Campaign ภายใต้แคมเปญ #BLOODCONNECT ภายใต้แนวคิด “We Are All Connected – เลือดเชื่อมชีวิต… ให้ทุกชีวิตได้ไปต่อ”

 

โดยแคมเปญฯ ร่วมกับ 3 ภาคีหลักในสังคมไทย ได้แก่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย, สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (MAT)  และ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย (AAT)  พร้อมเครือข่ายจากภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ รวมถึงแบรนด์ระดับประเทศและระดับโลกขององค์กรกว่า 900 แห่ง ร่วมเป็นกระบอกเสียงแห่งการให้ ผ่านการรณรงค์ทุกสื่อทั้งออฟไลน์และออนไลน์

 

ทั้งนี้ เพื่อสร้างการับรู้และกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการบริจาคโลหิตอย่างต่อเนื่องในกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้บริจาคโลหิตเป็นประจำทุก 3 เดือน เพื่อให้ประเทศไทยมีปริมาณโลหิตสำรองเพียงพอสำหรับผู้ป่วยอย่างยั่งยืน พร้อมยกระดับการบริจาคโลหิตให้เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ในที่สุด

 

ด้าน ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (MAT) เปิดเผยว่า สมาคมการตลาดฯ มอบหมายให้ โอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ ผู้เชี่ยวชาญด้านแบรนด์ดิ้งและทีมงาน เป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดแนวคิดเชิงกลยุทธ์ และออกแบบโครงสร้างแคมเปญ โดยเน้นทำความเข้าใจอินไซต์ของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงและแสวงหาความหมายจากการมีส่วนร่วม

 

“เป้าหมายแคมเปญฯนี้ คือการสร้างพฤติกรรมบริจาคโลหิตให้กลายเป็นวัฒนธรรมแห่งการให้ที่ยั่งยืน เป็นการทำการตลาดเชิงรุกที่ตั้งเป้าเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติของทั้งสังคม ให้ส่งต่อได้จากรุ่นสู่รุ่นเป็นพลังที่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสังคมได้อย่างแท้จริง”

 

ด้าน รติ พันธุ์ทวี นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย (AAT) เปิดเผยว่า แคมเปญฯ วางแนวคิดให้มีประสิทธิภาพสร้างการรับรู้และสร้างแนวร่วม มากำหนดแผนสร้างคุณค่าของการสื่อสารให้สมกับเป็นแคมเปญ ‘เพื่อสังคม’ พร้อมได้ ‘สุทธิศักดิ์ สุจริตตานนท์’ นักคิดสร้างสรรค์ระดับท้อปของประเทศ ซึ่งรับรางวัลต่างๆ ในเวทีโลก และทีมงานมาร่วมสร้างสรรค์งานนี้ เพื่อตอบโจทย์ อินไซต์เจนฯ Z อย่างตรงจุด  เพื่อวางสู่รากฐานของ ‘ทัศนคติและวัฒนธรรม’ แห่ง’การให้’ ไปพร้อมกัน

 

 

สำหรับกิจกรรมภายใต้แคมเปญ Blood Connect เลือดเชื่อมชีวิต ให้ทุกชีวิตได้ไปต่อ บริจาคทั่วประเทศได้ที่

 

  • ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์
  • หน่วยรับบริจาคโลหิตประจำที่ (Fixed Station) ได้แก่ สถานีกาชาด 11 วิเศษนิยม (บางแค) เดอะมอลล์สาขาบางแค สาขาบางกะปิ สาขางามวงศ์วาน สาขาท่าพระ ศูนย์การค้าดิเอ็มโพเรียม และบ้านทรงไทย (ย่านวงศ์สว่าง)
  • ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดลพบุรี ชลบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช (ทุ่งสง) สงขลา และภูเก็ต
  • โรงพยาบาลสาขาบริการโลหิตแห่งชาติ 8 แห่ง ในกรุงเทพฯ ได้แก่ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า, สถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์ พระมงกุฎเกล้า, โรงพยาบาลตำรวจ, คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช, โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลสิรินธร
  • โรงพยาบาลสาขาบริการโลหิตแห่งชาติทั่วประเทศ

 

การให้โลหิตเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ในการมอบโอกาส มอบความสุข มอบอนาคตให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตในรูปแบบที่ต้องการ และได้กำหนดชีวิตตัวเองต่อไป การบริจาคโลหิต 1 ครั้ง สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากกว่า 3 ชีวิต หลายคนอาจจะมีภูมิหลังและเรื่องราวที่แตกต่างกัน แต่ใต้ผิวหนังของทุกคนนั้น มีโลหิตไหลเวียนอยู่ ภายในร่างกาย การบริจาคโลหิตสามารถ “เชื่อมโยง” ทุกชีวิตในรูปแบบที่สวยงามและให้ชีวิตได้ไปต่อ

 

 

Alternate-X สรุปให้

ปี 2567 มีคนไทยบริจาคโลหิตเพียง 2.47% หรือราว 1.63 ล้านคน จากประชากร 66 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่มีสัดส่วนบริจาคเพียง 10% ของผู้บริจาคทั้งหมด สภากาชาดไทย ร่วม 3 องค์กรหลัก เปิดแคมเปญ “Blood Connect – เลือดเชื่อมชีวิต” หวังสร้างวัฒนธรรมบริจาคโลหิตทุก 3 เดือน ให้เป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง พร้อมใช้กลยุทธ์การตลาด-ครีเอทีฟ ทัชใจคนรุ่นใหม่ เชื่อมโยง ‘เลือด’ กับ ‘คุณค่า’ ในสังคม

 

บทความล่าสุด

COLLABORATE IDEAS, CREATE SUCCESS


FOLLOW US

© 2024 Maxideastudio. All Rights Reserved.