จากสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ผ่านมาของประเทศไทย ที่ต้องประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง และเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
รวมถึงการเกิดดินโคลนถล่มอย่างรุนแรงในช่วงฤดูฝน ส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากยังขาดแคลนข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะข้อมูลปริมาณน้ำฝน และระดับน้ำในพื้นที่ป่าต้นน้ำ
ไทยเบฟฯ ตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ
จากสถานการณ์ดังกล่าว บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ 72 สถานี ให้กับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
ขณะเดียวกัน ยังเพื่อช่วยเติมเต็มระบบการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ป่าต้นน้ำภาคเหนือ และภาคกลาง ครอบคลุมลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ในการตรวจวัดข้อมูลสภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝน และระดับน้ำ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญต่อการเฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างทันท่วงที รวมถึงช่วยป้องกันความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนจากภัยพิบัติได้อย่างยั่งยืน
โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) รับมอบเงินสนับสนุนการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ 72 สถานี จาก นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นายวิรัช เมฆสัมพันธ์ นางสาวน้ำฝน อังศุธรรังสี นายภัทริศร์ ถนอมสิงห์ และ ดร.นภัส พันธ์พงษ์เจริญ
ดึงข้อมูลจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติน้ำ
สำหรับการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ จำนวน 72 สถานี ประกอบด้วย
- สถานีตรวจวัดปริมาณน้ำฝน จำนวน 52 สถานี
- สถานีตรวจวัดระดับน้ำ จำนวน 20 สถานี
โดยติดตั้งในพื้นป่าต้นน้ำลุ่มน้ำภาคเหนือ และภาคกลาง ปิง วัง ยม และน่าน ครอบคลุม 11 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย
- เชียงใหม่
- ตาก
- น่าน
- พะเยา
- พิษณุโลก
- แพร่
- ลำปาง
- ลำพูน
- สุโขทัย
- อุตรดิตถ์
- กำแพงเพชร
เพื่อนำข้อมูลจากสถานีโทรมาตรอัตโนมัติที่ได้ถูกเชื่อมโยง และแสดงผลแบบเรียลไทม์ผ่านเว็บไซต์คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ www.thaiwater.net และแอปพลิเคชัน ThaiWater มาใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัย และสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยคาดว่าโครงการนี้จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2568 ซึ่งจะสามารถนำไปสู่การขยายผลในระดับประเทศ เพื่อให้ทุกพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสามารถวางแผน และบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ไทยเบฟ และสสน. ยังได้วางแผนจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรภายในองค์กร รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เสี่ยงการเกิดอุทกภัย ให้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถติดตาม และประเมินสถานการณ์น้ำ เพื่อเป็นการยกระดับองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างยั่งยืน
Alternate-X สรุปให้
จากปัญหาภัยพิบัติน้ำในไทย ไทยเบฟสนับสนุนการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ 72 สถานีในพื้นที่ป่าต้นน้ำภาคเหนือและกลาง ครอบคลุม 11 จังหวัด เพื่อเก็บข้อมูลฝนและระดับน้ำแบบเรียลไทม์ผ่านระบบ ThaiWater.net โครงการนี้ช่วยเสริมระบบเตือนภัยและบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมอบรมบุคลากรในพื้นที่เสี่ยง เพื่อยกระดับความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน