อิชิตัน ชวนตั้งคำถาม? ขวดน้ำ PET ถ้าดื่มหมดแล้วจะไหนต่อ? หลังพบ 14% นำกลับไปรีไซเคิล สัดส่วนนื้ยังน้อยไปเพราะส่วนใหญ่นำไปฝังกลบตัวการทำโลกเดือดขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นที่มาโครงการ ‘Ichitan ReCircle’ ระบบรีไซเคิลหมุนเวียนแบบปิดนำร่องก่อนที่ ‘เชียงใหม่’
ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและทำตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มกลุ่มอิชิตัน (Ichitan) กล่าวว่า บริษัทฯ ร่วมกับพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) , GC YOUเทิร์น, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ และ วันนิมมาน เชียงใหม่ ร่วมเปิดตัว ‘Ichitan ReCircle’ โครงการเก็บ-กลับระบบรีไซเคิลหมุนเวียนแบบปิด (Closed-Loop Circular) สำหรับขวดพลาสติก PET นำร่องแห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่
สำหรับโครงการฯ นี้ เพื่อมีส่วนร่วมสนับสนุนการสร้างวงจรของขวดพลาสติก PET ให้มีชีวิตใหม่ได้ไม่รู้จบ โดยไม่หยุดที่หลุมฝังกลบซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของก๊าซเรือนกระจก และภาวะโลกร้อน เพื่อสังคมไทยที่สะอาดยิ่งขึ้น
“จากข้อมูลพบว่า 86% ถูกทิ้งไว้ที่หลุมฝังกลบ มีแค่ 14% ได้รับการนำกลับไปรีไซเคิล แต่วันนี้ขวดพลาสติก PET ที่ถูกทิ้งจะไม่สร้างภาระ สร้างมลภาวะอีกต่อไป”
ตัน กล่าวพร้อมเสริมว่า
สำหรับโครงการ ‘Ichitan ReCircle’ (อิชิตัน รีเซอเคิล) ไม่ใช่แค่การรีไซเคิลทั่วไป แต่เป็นการสร้างระบบการจัดการขวดพลาสติก PET ครบวงจร ตั้งแต่รวบรวม คัดแยก ฆ่าเชื้อ ปั่นเป็นชิ้น ไปจนถึงการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยการคงคุณภาพพลาสติกให้ดีอยู่เสมอ
โดยทั้งหมดใช้เทคโนโลยีทันสมัยที่มั่นใจได้ถึงความสะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ทำให้ขวดที่ผ่านกระบวนการใช้บรรจุเครื่องดื่มได้ไม่รู้จบ ไม่จบลงที่หลุมฝังกลบหรือเป็นขยะในทะเลจะต่างจากระบบ Open Loop (การแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลตามปกติ) ที่ขยะพลาสติกเมื่อนำไปรีไซเคิลเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เช่น เสื้อผ้า ถังพลาสติก ถุงขยะ ฯลฯ
“ด้วยข้อจำกัดของระบบเปิดจะทำให้คุณภาพของพลาสติกที่ถูกนำไปรีไซเคิลลดลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็จะไปจบที่หลุมฝังกลบไม่ช้าก็เร็ว” ตัน อธิบายเพิ่ม
โดย ‘Ichitan ReCircle’ ได้เปิดตัวโครงการนำร่องที่จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเมืองหลักที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวจากยุโรป ญี่ปุ่น สแกนดิเนเวีย และนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการท่องเที่ยวยั่งยืนเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม
พร้อมติดตั้งจุด ‘Ichitan ReCircle’ ในพื้นที่ถนนคนเดินวัวลายเป็นแห่งแรก เพื่อสนับสนุนนโยบาย Green Tourism ของเชียงใหม่ ให้กลายเป็นพื้นที่เก็บ-กลับระบบรีไซเคิลหมุนเวียนแบบปิด (Closed-Loop Circular)
ขณะเดียวกัน อิชิตัน ยังมีแผนขยายโครงการ ‘Ichitan ReCircle’ ให้มากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายว่าภายปี2570 จะสามารถติดตั้งเพื่อเก็บกลับและแปรรูปพลาสติกได้สูงสุด 9,000 ตันต่อปี
นอกจากนี้ อิชิตัน ยังได้พัฒนาพื้นที่ One ChiChan ซึ่งเป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตท่ามกลางธรรมชาติ ขนาด 5,000 ที่นั่งให้เป็น sustainable concert space พร้อมเชิญชวนผู้ชมคอนเสิร์ตให้ร่วมกันนำขวดน้ำที่ดื่มขณะสนุกกับคอนเสิร์ตแล้วกลับเข้าสู่ Ichitan ReCircle รวมถึงสร้างสัญลักษณ์มาสคอต ‘Melt Man’ ตัวแทนจากธรรมชาติพร้อมเทคนิคการนำเสนอแบบ projection mapping บอกเล่าเรื่องราวน่ารักเพื่อชวนทุกคนเห็นคุณค่าของการบริโภคอย่างยั่งยืน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง
ด้าน กิจชัย เฉลิมสุขสันต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและการขาย กลุ่มลูกค้าแพลตฟอร์มอุตสาหกรรม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้พัฒนา ‘GC YOUเทิร์น แพลตฟอร์มบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้ว เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Ichitan ReCircle” จากที่ผ่านมา ได้ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรมากกว่า 140 องค์กร ขยายจุดทิ้งพลาสติก หรือ GC YOUเทิร์น Drop Point ไปแล้ว 400 จุด
พัศลินทร์ เศวตรัตน์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ มีความพร้อมสู่การเป็นเมืองต้นแบบด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน และการได้รับเลือกเป็นเมืองนำร่องของโครงการ Ichitan ReCircle ถือเป็นก้าวสำคัญ เพราะสามารถเปลี่ยนจุดท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างถนนคนเดินวัวลาย และ One Nimman ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม
“เรามองว่า Green Tourism ต้องไม่ใช่แค่แนวคิด แต่ต้องเป็นประสบการณ์จริง โดยนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ให้ความสำคัญกับการเลือกสถานที่เที่ยวที่เป็นมิตรต่อโลก” พัศลินทร์ กล่าว
Alternate-X สรุปให้
อิชิตันเปิดโครงการ “Ichitan ReCircle” นำร่องที่เชียงใหม่ จัดการขวดพลาสติก PET แบบครบวงจรในระบบปิด พร้อมร่วมกับพันธมิตรพัฒนาแนวทางรีไซเคิลที่ไม่จบที่ฝังกลบ ลดปัญหาโลกร้อน ด้วยเทคโนโลยีระบบปิดแปรรูปเป็นขวดใหม่ ใช้ซ้ำได้ไม่รู้จบ และยังเสริมจุดท่องเที่ยวอย่างถนนคนเดินวัวลายและ One Nimman เป็นพื้นที่เรียนรู้ ตั้งเป้ารีไซเคิลพลาสติกได้ 9,000 ตันต่อปี ภายในปี 2570