THG ฟื้นแบรนด์ ‘รพ.ธนบุรี’ ลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 พันล.ใน3ปี ปั้นสู่ ‘แฟล็กชิป’ ต้องพลิกกลับมาโต 7%

”ความท้าทาย ของ รพ.ธนบุรี ในเวลานี้ คือ ฟื้นความเชื่อมั่นแบรนด์ให้กลับมาทั้งในกลุ่มคนไข้และบุคลากร ซึ่งเป็นแผนงานหลักภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่“

 

คำกล่าวของ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.วิศิษฐ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธนบุรี ระบุในช่วงระหว่างพิธีเปิดอาคาร 8 โรงพบาบาลธนบุรี ซอยอิสรภาพ44 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และเป็นช่วงเดือนครบรอบ 48 ปีการดำเนินงานโรงพยาบาลธนบุรี และก้าวสู่ปีที่ 49 พร้อมกันด้วย

 

 

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.วิศิษฎ์  กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานรพ.ธนบุรี อยู่ภายใต้วิสัยทัศน์การเป็น ‘โรงพยาบาลที่ได้รับความไว้วางใจและมีคุณค่าสูงสุดในกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง’ พร้อมย้ำเป้าหมาย ‘Hospital of Choice’ สู่การเป็นโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยเลือก บุคลากรภูมิใจ และสังคมให้คุณค่า

 

ต่อแนวทางที่จะทำให้ โรงพยาลธนบุรีไปถึงจุดหมายที่ปักไว้ได้นั้น ศาสตราจารย์คลินิก นพ.วิศิษฎ์ บอกว่าจะต้องเดินไปตามแผนที่วางไว้ คือ การสร้างความเชื่อมั่นแบรนด์ พร้อมผลักดันให้ ‘โรงพยาบาลธนบุรี’ เป็นสาขาเรือธง (Flagship) ในเครือบริษัทธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ให้คืนกลับมาได้โดยเร็ว

 

จากปัจจุบัน มีเครือข่ายโรงพยาบาลในเครือ 10 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลธนบุรี , โรงพยาบาลธนบุรี ทวีวัฒนา, โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง, โรงพยาบาลธนบุรีบูรณา, โรงพยาบาลธนบุรีทุ่งสง, โรงพยาบาลสิริเวช จันทบุรี,  โรงพยาบาลอุบลรักษ์ ธนบุรี, โรงพยาบาลธนบุรี ราษฎร์ยินดี, โรงพยาบาลธนบุรี ตรัง และ Ar Yu International Hospital

 

โดยในช่วงที่ผ่านมา THG ใช้งบลงทุนราว 700 ล้านบาท สร้างอาคาร 8  ล่าสุด เพื่อรองรับการให้บริการผู้ป่วยนอก พร้อมเสริมความครบวงจรด้านเทคโนโลยีต่างๆทางการแพทย์ให้กับผู้เข้ามารับการรักษา ด้วยนวัตกรรมและความใส่ใจของบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล

 

“อาคาร 8 ยังเป็นสัญลักษณ์ของยุคใหม่โรงพยาบาลธนบุรี ที่ก้าวสู่การเป็น Hospital of Choice เพื่อเป็นโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยเลือก และเป็นโรงพยาบาลที่บุคลากรภูมิใจ”

 

ขณะเดียวกันภายใน3 ปีนี้ ยังเตรียมใช้งบลงทุนราว 1,000 ล้านบาท สร้างอาคาร 9 อีกหนึ่งหลังใหม่ วางตำแหน่งเป็นอาคารหลัก (Main Building) เพื่อเชื่อมต่อการให้บริการและอำนวยความสะดวกทั้งผู้เข้ามารับการรักษาและการปฏิบัติการทางการแพทย์ด้านต่างๆ ได้แบบไร้รอยต่อระหว่างอาคาร 8 เพื่อรองรับงานผู้ป่วยนอก (OPD) ในรูปแบบงานบริการแนวสูง จากเดิมซึ่งเป็นแนวราบ

 

พร้อมกันนี้ ยังเตรียมใช้งบไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่รองรับการให้บริการทางการแพทย์ของรพ.ธนบุรี ได้ตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ในอนาคต

 

“สิ่งที่ รพ.ธนบุรีจะต้องเร่งเติมเข้ามาคือความครบวงจรงานบริการด้านรังสีวินิจฉัย เพื่อให้บริการผู้เข้ารับการรักษาจากทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล เป็นการเตรียมรองรับประชากรกลุ่มผู้สูงวัยที่จะเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากในอนาคต และคาดว่าจะมีความต้องการงานบริการรังสีเพื่อวินิจฉัยในกลุ่มโรคมะเร็งที่คาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นในอนาคต” ศาสตราจารย์คลินิก นพ.วิศิษฎ์ กล่าว พร้อมเสริมว่า

 

ปัจจุบัน รพ.ธนบุรีมีจำนวนผู้ป่วยหรือคนไข้เข้ามารับบริการเฉลี่ย 1,400-1,500 คนต่อวัน ซึ่งเข้ามารับบริการทั้งในอาการป่วยทั่วไป หรือ กลุ่มโรค NCDS และการรักษาเฉพาะทางที่รพ.ธนบุรี มีความเชี่ยวชาญ จากก่อนหน้ามีคนไข้หมุนเวียนต่อวันราว 1,700 คน ซึ่งจำนวนที่ลดลงเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องเช่นกัน

 

“การฟื้นฟูแบรนด์รพ.ธนบุรี ยังจะใช้กลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์กับผู้ป่วยโดยยึดความต้องการและประสบการณ์ของผู้ป่วยเป็นจุดศูนย์กลาง และพัฒนาแบรนด์ในบุคลากรทางการแพทย์ไปพร้อมกัน”

 

นอกจากนี้ รพ.ธนบุรี ยังมุ่งสู่การให้บริการด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์โดยร่วมกับ Agnos Health บริษัท Startup ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เปิดให้บริการ Smart Registration ในการลงทะเบียนผู้ป่วย ได้รับความสะดวกด้านต่างๆ อาทิ

 

  • ระบบ AI Nurse ช่วยซักประวัติและแนะนำแผนกที่เหมาะสมกับอาการป่วย
  • ระบบยืนยันตัวตนด้วย AI Face Recognition ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย
  • ระบบดึงข้อมูลอัตโนมัติจากเอกสารผู้ป่วยผ่าน AI OCR ระบบตรวจสอบสิทธิของผู้ป่วยด้วย Robotic Process Automation
  • ระบบ E-consent สำหรับเก็บการยินยอม PDPA ช่วยลดกระดาษที่ไม่จำเป็น

 

นอกจากนี้ ยังได้นำนวัตกรรมการแพทย์ที่ครอบคลุมรักษารอบด้าน ทั้ง Endoscopic Spine Surgery , หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด Da Vinci เพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัดข้อเข่าเทียมและมะเร็งต่อมลูกหมาก, เทคโนโลยี O-Arm Navigator สร้างภาพสามมิติแบบเรียลไทม์ระหว่างผ่าตัดกระดูกสันหลัง และ เครื่อง CT Scan 256 Slice และ MRI 3.0 Tesla ที่ให้ภาพระดับรายละเอียดสูง  เป็นต้น

 

“โรงพยาบาลธนบุรีวางเป้าหมายเติบโต 7% ในปี2569 ซึ่งมองว่าเป็นตัวเลขที่ที่พอใจแล้วท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัวแบบนี้ที่มีผลต่อการเข้ารับการรักษาของคนไข้ที่มาใช้บริการเช่นกัน”

 

 

โดย รายได้กลุ่ม THG ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดังนี้

 

ปี 2565 รายได้รวม 11,539 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,602 ล้านบาท

ปี 2566 รายได้รวม 9,844 ล้านบาท กำไรสุทธิ 295 ล้านบาท

ปี 2567 รายได้รวม 9,479 ล้านบาท กำไรสุทธิ -1,765 ล้านบาท

 

 

Alternate-X สรุปให้ 

โรงพยาบาลธนบุรีมุ่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นแบรนด์ สู่เป้าหมาย “Hospital of Choice” ที่ผู้ป่วยเลือกและบุคลากรภูมิใจ ลงทุน 700 ล้านบาทสร้างอาคาร 8 พร้อมเตรียมใช้งบ 1,000 ล้านบาทสร้างอาคาร 9 และอีก1,000 ล้เานบาทใส่เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ เพิ่มบริการครบวงจร โดยเฉพาะด้านรังสีวินิจฉัย เพื่อรองรับผู้สูงวัยและโรคมะเร็งที่เพิ่มขึ้น และนำนวัตกรรม AI และหุ่นยนต์ผ่าตัดมาใช้ ยกระดับบริการผู้ป่วย เช่น Smart Registration, Da Vinci, O-Arm Navigator ตั้งเป้ารายได้เติบโต 7% ในปี 2569 แม้เศรษฐกิจชะลอตัวกระทบจำนวนผู้ป่วย

บทความล่าสุด

COLLABORATE IDEAS, CREATE SUCCESS


FOLLOW US

© 2024 Maxideastudio. All Rights Reserved.