ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ธุรกิจสนามบินปี68 ยังมีสัญญาณบวกโต 0.2% มูลค่ากว่า 8 หมื่นล. แต่อนาคตเจอหลายปัจจัยท้าทายทั้งเศรษฐกิจโลก-ภูมิรัฐศาสตร์ กระทบการเดินทางทำรายได้จากสัมปทานลดลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลวิเคราะห์ แนวโน้มธุรกิจสนามบินในไทยในปี 2568 คาดว่าภาพรวมของธุรกิจสนามบินในไทยจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 80,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.2% จากปี 2567 เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมธุรกิจสนามบินมีความท้าทายสูง
ทั้งนี้ รายได้ของธุรกิจสนามบิน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
- รายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน (Aeronautical Revenue) อาทิ ค่าบริการผู้โดยสารขาออกเส้นทางระหว่างประเทศและภายในประเทศ (Passenger Service Charge: PSC) และค่าบริการสนามบิน
- รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Non- Aeronautical Revenue) อาทิ ค่าเช่าพื้นที่ รายได้จากสัมปทาน และค่าบริการอื่นๆ เช่น ค่าสาธารณูปโภคค่าบริการเคาน์เตอร์เช็คอินและบริการภายในสนามบิน เป็นต้น
โดยสัดส่วนโครงสร้างรายได้ขึ้นอยู่กับขนาดของสนามบิน กรณีสนามบินขนาดเล็ก รายได้ส่วนใหญ่ หรือมากกว่า 80% มาจากรายได้เกี่ยวกับกิจการการบินและ หากเป็นสนามบินขนาดใหญ่ รายได้ของทั้ง 2 กลุ่มจะมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน
ในปี 2568 ปัจจัยแวดล้อมธุรกิจสนามบินมีความท้าทายสูง ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของรายได้ของธุรกิจสนามบินในไทยที่ชะลอตัว สำหรับปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อรายได้ของธุรกิจสนามบิน ได้แก่
1.รายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน (Aeronautical Revenue) มองว่า รายได้ในกลุ่มนี้น่าจะยังสะท้อนภาพบวกได้เล็กน้อย โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก
- ปริมาณผู้โดยสารที่ใช้สนามบิน (รวมชาวไทยและต่างชาติที่เดินทางในประเทศและระหว่างประเทศ) คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 145.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.4% แต่ชะลอจากปี 2567 ที่โต 15%
การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารที่ใช้สนามบินในไทยได้รับปัจจัยบวกจากการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศและในประเทศของชาวไทย การเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจ และในปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดงานระดับนานาชาติหลายรายการอย่างการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์-อาเซียนเกมส์และการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2025
อย่างไรก็ดี การชะลอลงของจำนวนผู้โดยสารมีสาเหตุสำคัญมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2568 ที่คาดว่าจะลดลง 2.8% จากปีที่ผ่านมา โดยการปรับลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติส่งผลโดยตรงต่อรายได้จากค่าบริการผู้โดยสารขาออกเส้นทางระหว่างประเทศ
- ปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น จากการเปิดเผยตารางเที่ยวบินระหว่างประเทศของสายการบินที่มีกำหนดการล่วงหน้าไปถึงเดือนกันยายน 2568 บ่งชี้ว่า จำนวนเที่ยวบินจากภูมิภาคต่างๆ มาไทยส่วนใหญ่ยังเติบโตยกเว้นจากภูมิภาคอเมริกาเหนือที่ปรับลดลง ซึ่งเป็นเรื่องของฤดูกาลท่องเที่ยว
แต่ไปข้างหน้า ปัจจัยแวดล้อมของธุรกิจมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งยังต้องขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐในการดึงดูดการลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงความต้องการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ สะท้อนได้จากแผนการจัดเที่ยวบินของสายการบินไปข้างหน้า ที่ตอบรับความสนใจในจุดหมายปลายทางใหม่ๆ
โดยเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน พบว่าเที่ยวบินระหว่างประเทศที่มีปลายทางสู่จีน เติบโต 18% (9เดือนแรกปี 2568 เทียบ 9 เดือนแรกปี 2567) ญี่ปุ่น เติบโต 16% ส่วนไทย เพิ่มขึ้นเพียง 8%
2.รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Non- Aeronautical Revenue) ในปี 2568 ก็ได้รับผลเกี่ยวเนื่องจากทิศทางนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย ที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อส่วนแบ่งรายได้ที่อาจลดลง
ความเสี่ยงของธุรกิจสนามบินในไทย
ความเสี่ยงจากจำนวนผู้โดยสารและแผนเที่ยวบินของสายการบินที่อาจลดลงกว่าที่ประเมิน ซึ่งจะมีผลต่อรายได้ที่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Aeronautical Revenue) ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 50% ของรายได้ธุรกิจสนามบิน (ขึ้นอยู่กับขนาดและกิจการของสนามบิน)
โดยในช่วงที่เหลือของปี 2568 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่
- เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวกระทบแผนการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยและคนต่างชาติ
- ปัญหาสงครามการค้าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อใน หลายประเทศรวมถึงไทย โดยเมื่อเดือนเมษายน 2568 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดเศรษฐกิจโลกปี 2568 จะขยายตัว 2.8% ปรับลดจากที่คาดว่าจะเติบโต 3.3% (คาดการณ์เมื่อเดือนมกราคม 2568)
ขณะที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับหลายปัจจัยลบ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 1.4%
- ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสายการบินและการเดินทาง แม้เหตุการณ์ระหว่างอินเดียและปากีสถานจะยุติและสายการบิน กลับมาเปิดเส้นทางการบินได้ตามปกติแล้ว แต่สถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงสงครามรัสเซียและยูเครนยังไม่ยุติทำให้ประเด็นนี้จะยังส่งผลต่อแผนเส้นทางการบิน จำนวนเที่ยวบิน รวมถึงการเดินทางระหว่างประเทศ
- การแข่งขันด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศสูง ขณะเดียวกันข่าวเชิงลบที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง กระทบความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยและประสบการณ์ในการเดินทางมาเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม สะท้อนจากจำนวนชาวต่างชาติเที่ยวไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 ชาวต่างชาติเที่ยวไทยหดตัว 0.3% (เทียบ 4 เดือนแรกปี 2567) ขณะที่ญี่ปุ่น เติบโตสูงถึง 25% และเวียดนามโต 6.3% ซึ่งการลดลงของจำนวนชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยอาจส่งผลต่อรายได้ธุรกิจสนามบินในระยะข้างหน้า จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องเร่งแก้ไขปรับปรุงอย่างจริงจัง เพื่อเรียกฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับมาโดยเร็ว
- ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้น ขณะที่รายได้ยังมีความไม่แน่นอน และไปข้างหน้าการแข่งขันในธุรกิจสนามบินระหว่างภูมิภาคสูงขึ้น
- สนามบินในไทยหลายแห่งยังต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และความปลอดภัยของสนามบินให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินสากล ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนที่สูง เช่น แผนการขยายอาคารรองรับผู้โดยสารและการขยายรันเวย์เพื่อลดความแออัดในสนามบินและการให้บริการการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและความปลอดภัย รวมไปถึงการลงทุนเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือ Green Airport
- การแข่งขันกับสนามบินในภูมิภาค หลายประเทศมีแผนการลงทุนพัฒนาสนามบินนานาชาติรองรับการขยายตัวของผู้โดยสารและปริมาณเที่ยวบิน มีระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการบริหารจัดการอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการ เพื่อดึงสายการบินให้มาใช้บริการ หรือเลือกเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศ ซึ่งประเด็นนี้อาจนำมาซึ่งการแข่งขันด้านบริการและราคาในธุรกิจสนามบินที่สูงขึ้น และอาจมีผลต่อต้นทุนรายได้และผลกำไรในการดำเนินงาน เนื่องจากสนามบินไทยจะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงเพื่อให้ทัดเทียมกับคู่แข่ง
- ความต่อเนื่องของแผนการพัฒนาสนามบินในประเทศของภาครัฐ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อธุรกิจสนามบิน ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายของภาครัฐทำให้การพัฒนาสนามบินอาจมีความล่าช้า กระทบการวางแผนการลงทุน และการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว
ขณะที่ ความพร้อมของสนามบินไทยในการตรวจมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินประเทศไทย ซึ่งต้องติดตามผลการตรวจมาตรฐานด้านความปลอดภัยขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในช่วงเดือนสิงหาคม 2568
Alternate-X สรุปให้
ธุรกิจสนามบินไทยปี 2568 คาดรายได้แตะ 80,700 ล้านบาท โตเพียง 0.2% จากปีก่อน แม้จำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินยังเพิ่ม แต่แนวโน้มชะลอลงจากปี 2567 รายได้หลักมาจากค่าบริการผู้โดยสารและกิจการเชิงพาณิชย์ในสนามบิน ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง, เศรษฐกิจโลกชะลอ, ต้นทุนสูง ความท้าทายเพิ่มจากการแข่งขันสนามบินในภูมิภาคและความไม่แน่นอนนโยบายรัฐ