เบเกอรี่ไทย 4 หมื่นล. ธุรกิจแข่งทำ ‘เฮาส์แบรนด์’  แต่กำลังซื้อเท่าเดิมทำตลาดไม่โต 2 ปีติด  

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ราวช่วงปี 2493-2503 ‘ไทย’ เริ่มรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศจากตะวันตก  รวมถึงอารยธรรมการบริโภคอาหารอย่าง ‘เบเกอรี่’ ที่เข้าสู่ประเทศนับจากช่วงนั้นเป็นต้นมา

 

ทำให้เบเกอรีและโรงงานขนมปังสมัยใหม่เริ่มเข้ามาในประเทศไทยอย่างแพร่หลายในช่วงนั้น อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการ ‘เช็ค แฮนด์’ เทรนด์การบริโภคแบบตะวันตก ที่มาพร้อมกระแสความนิยมการกินทั้งขนมปังและเบเกอรี ขยายตัวเพิ่มขึ้น

 

จากนั้นเริ่มมีโรงงานขนมปังสมัยใหม่เริ่มเกิดขึ้น อย่างโรงงานขนมปังบางกอกเบเกอรี่ (ก่อตั้งราวปี พ.ศ. 2495) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตขนมปังรายแรกๆ ของไทย และมีบริษัทต่างชาติ เช่น Délifrance (ฝรั่งเศส) และ Yamazaki (ญี่ปุ่น) เข้ามาเปิดสาขาในไทยในช่วงปี 2523-2533

 

รวมถึงการเข้ามาสู่รูปแบบอุตสาหกรรมขนมปังอย่างจริงจัง จากการเปิดตัว ‘ฟาร์มเฮ้าส์’ (Farmhouse) แบรนด์ขนมปังสัญชาติไทยที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2525 โดยบริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒนพิบูล

 

โดยธุรกิจ ก่อตั้งจากแนวคิด ผลิตและจัดจำหน่ายขนมปังและผลิตภัณฑ์เบเกอรีที่มีคุณภาพมาตรฐานทัดเทียมสากล ที่ปัจจุบันดำเนินการมาร่วม 43 ปีแล้วถึงในปัจจุบัน

 

ด้วยยี่ห้อสินค้า ‘ฟาร์มเฮ้าส์’ มาพร้อมโลโก้รูปบ้านแนวโฮมมี่ ให้ความอบอุ่น  และยังสะท้อนถึงทุ่งข้าวสาลีที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตขนมปัง เพื่อสื่อถึงการอบขนมปังที่สดใหม่

 

อาจเรียกได้ว่าอุตสาหกรรมเบเกอรี่และขนมปังของไทย ได้เข้าสู่ยุคเฟื่องฟูมาตั้งแต่กว่า 30 ปีที่ผ่านมาจนถึงในปัจจุบัน เห็นได้จากการขยายตัวของร้านเบเกอรีหลากหลายแบรนด์ต่างๆ ที่ทยอยเปิดตัวเป็นจำนวนมาก ที่ผลักดันให้ตลาดเบเกอรีในไทยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท

 

อย่างไรก็ตามตลาดเบเกอรี่ในไทยที่มีมูลค่าร่วม 4 หมื่นล้านบาท กลับทรงตัวและไม่เติบโต 2 ปีต่อเนื่อง (พ.ศ. 2567-2568)

“ปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจชะลอตัว และการแข่งขันสูงขึ้น โดยทุกบริษัททำสินค้าเฮ้าส์แบรนด์เป็นของตนเอง และทำสินค้าขนมปังออกมาแข่งขัน เพราะมองว่าเป็นธุรกิจที่เข้ามาง่าย ส่งผลให้ปัจจุบันมีแบรนด์ขนมปังในตลาดสูงถึง 18 แบรนด์ ขณะที่กำลังซื้อผู้บริโภคเท่าเดิม”

อภิเศรษฐ ธรรมมโนมัย’ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ กล่าว

 

ขณะที่ในช่วงหลังการแพร่ระบาดโควิด ‘ฟาร์มเฮ้าส์’ เคยมีการเติบโต 3 ปีต่อเนื่องในช่วงปี 2564-2566 และเคยเติบโตสูงสุดอัตราสองหลัก Double Digit ในช่วงที่ร้านสะดวกซื้อขยายสาขาเปิดตัวจำนวนมาก

 

“และเคยหดตัวสูงสุดที่ 5% แต่ตอนนี้เหลือโตเฉลี่ย 3-5%”

 

ลงทุน 4 พันล.บาทใน 3 ปี

 

ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว แน่นอนว่า ‘ฟาร์มเฮาส์’ จะต้องปรับแนวทางการทำธุรกิจครั้งใหญ่ ด้วยแผนเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าพร้อมเตรียมใช้งบลงทุนราว 4,000 ล้านบาทใน 3 ปี (พ.ศ. 2568-2570) เพื่อเพิ่มขีดการแข่งขัน แบ่งออกเป็น

 

  • ลงทุนโรงงานแป้ง 1,200 ล้านบาท
  • ลงทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่ 2,000 ล้านบาท
  • ลงทุนนำเข้าเครื่องจักรใหม่จากยุโรป 600-700 ล้านบาท
  • ลงทุนตู้เวนดิ้งแมชชีน 300 ล้านบาท (ปีละ 100 ล้าน)
  • ลงทุนเพิ่มรถ EV ในการขนส่งสินค้าอีก 300 คัน

 

“การนำเข้าเครื่องจักรยุโรป ใช้เทคโนโลยีใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตขนมปังให้ดีขึ้น และยังสามารถเพิ่มกำลังผลิตขนมปังได้ 6,000 แถว/ชม. หรือประมาณ 20% ส่วนโรงงานแห่งใหม่คาดแล้วเสร็จปี 2569 จะช่วยในเรื่องการบริหารต้นทุนให้ดีขึ้น”

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรวมตลาดจะทรงตัว แต่ ฟาร์มเฮ้าส์ มองเห็นโอกาสในตลาดขนมปังในไทยยังมีช่องว่างให้เติบโตอีกอย่างน้อย 2 เท่า

 

ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกับในตลาด ‘ญี่ปุ่น’ และ ‘มาเลเซีย’ ที่คนในประเทศต่าง รับประทานข้าวเป็นหลักเหมือนคนไทย แต่ยอดการบริโภคขนมปังโตมากกว่าไทย

 

ต้องสร้างวัฒนธรรมขนมปัง

 

จากแนวโน้มดังกล่าว ทำให้ ‘ฟาร์มเฮ้าส์’ มุ่งสร้างวัฒนธรรมการรับประทานขนมปังในไทยมากขึ้น

 

และเมื่อสร้าง ‘นี้ด’ ให้เกิดขึ้นได้แล้ว จากนั้นจะต้องไปสู่การเพิ่มช่องทางขาย หรือ ‘เอาต์เล็ต’ ให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น อย่าง ตู้เวนดิ้งฟาร์มเฮ้าส์ ที่ปัจจุบันมีอยู่ 500 ตู้ ตั้งเป้าขยายครบ 1,000 ตู้ กระจายตามย่านโรงเรียนและโรงพยาบาล ซึ่งต่อยอดจากช่องทางขายเดิม ที่มีอยู่ราว 60,000 ร้านค้า ใน โมเดิร์นเทรด อาทิ ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าเทรดิชั่นนอลเทรด อาทิ โชห่วย ในสัดส่วน 50 : 50 เท่ากัน

 

เปิดเทอม ทำตลาดขนมปังสดใส 

 

ขณะที่ในไตรมาส 2 ปี 2568 ฟาร์มเฮ้าส์ คาดว่าจะมียอดขายขนมปังเติบโตขึ้น จากโรงเรียนที่เปิดเทอม และคนออกมาทำงานมากขึ้น พร้อมวางเป้าหมายในปี 2568 ฟาร์มเฮ้าส์ จะรายได้รวมโต 7-10%

 

“ส่วนปีพ.ศ. 2570 จะยังคงเป้าใหญ่เดิม คือ ทำรายได้ทะลุ 10,000 ล้านบาท” อภิเศรษฐ

 

จากในช่วงที่ผ่านมา ไตรมาส 1 ปี 2568 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,716 ล้านบาท ลดลง 5.9% (YoY) และกำไรสุทธิ 341 ล้านบาท ลดลง 17.9% (YoY) และปี 2567 รายได้รวม 7,533 ล้านบาท ลดลง 0.85% (YoY) และกำไรสุทธิ 1,590 ล้านบาท ลดลง 6.8% (YoY)

 

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมธุรกิจขนมปังขาวในไทย เริ่มมีผู้เล่นรายใหม่และใหญ่เข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ จากการเข้ามาของ  บริษัทซีพีแรม จำกัด (CPRAM) ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารประเภทแช่แข็ง แช่เย็น อาหารพร้อมรับประทานและเบเกอรี และเป็นบริษัทลูกของบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในไทย, กัมพูชา และลาว

 

โดยในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2567 ที่ผ่านมา ‘ซีพีแรม’ ได้เปิดตัวโรงงานผลิตขนมปังแผ่นแห่งใหม่ที่จังหวัดชลบุรี ด้วยมูลค่าลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท วางตำแหน่งให้เป็นโรงงานที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในระดับโลก เพื่อตอบรับเทรนด์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการอาหารที่หาซื้อง่าย รับประทานได้สะดวกรวดเร็ว และที่ยังเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายดาย ด้วยช่องทางขายหลักร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เกือบ 15,000 สาขาทั่วประเทศ อีกด้วย

Alternate-X สรุปให้ 

ตลาดเบเกอรี่ไทยมูลค่าแตะ 4 หมื่นล้านบาท แต่ทรงตัวต่อเนื่อง 2 ปีเพราะกำลังซื้อไม่เพิ่ม ขณะที่การแข่งขันรุนแรงจากแบรนด์ทำ ‘เฮาส์แบรนด์’ ของตัวเองจำนวนมาก โดย ‘ฟาร์มเฮ้าส์’ เตรียมลงทุน 4,000 ล้านบาทใน 3 ปี เพิ่มโรงงาน เครื่องจักร และช่องทางขาย พร้อมแผนสร้างวัฒนธรรมบริโภคขนมปังในไทย ด้วยตู้เวนดิ้งและการขยายเอาต์เล็ต
ตั้งเป้ารายได้แตะ 10,000 ล้านบาทในปี 2570 แม้ผลประกอบการ Q1/68 ยังติดลบ

บทความล่าสุด

COLLABORATE IDEAS, CREATE SUCCESS


FOLLOW US

© 2024 Maxideastudio. All Rights Reserved.