แม็คซ์ฟู๊ด ไอศกรีม 1,000 ล้าน คว้าเบอร์ 9 ผู้ส่งออกส่งออกไอศกรีมผลไม้ไทยกว่า 3.4 พันล้านบาทโตปีละ 11% ครองตลาดเอเชียและเป็นอันดับสี่ของโลก ทำออเดอร์ล้นเร่งแผนเพิ่มผลิตกำลังผลิตขยายโรงงาน
ฐานพงศ์ จุ้ยประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แม็คซ์ฟู๊ด กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ตลาดการส่งออกไอศกรีมและความนิยมผลิตภัณฑ์ไอศกรีมผลไม้ไทยในตลาดต่างประเทศ มีแนวโน้มได้รับการยอมรับอย่างสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ไอศกรีมผลไม้ไทยที่มีรสชาติดี มีความหลากหลายและแปลกใหม่
โดยล่าสุด ประเทศไทยครองอันดับ 1 ประเทศผู้ส่งออกไอศกรีมของภูมิภาคเอเชีย และเป็นอันดัน 4 ของโลกได้อย่างต่อเนื่อง มีมูลค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่ผ่านมา (2563-2567) อยู่ที่ปีละ 106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.486 พันล้านบาท ขยายตัวเฉลี่ย 11% ต่อปี
จากแนวโน้มดังกล่าว ยังสอดคล้องการเติบโตของ ‘แม็คซ์ฟู๊ด กรุ๊ป’ ธุรกิจขยายตัวต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ผลักดันให้บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตและส่งออกไอศกรีมอันดับ 9 ของไทย
โดยผลิตภัณฑ์หลักเป็น
- ไอศกรีมซอร์เบในลูกผลไม้มีสัดส่วนถึง 70%
- โมจิไอศกรีม 20%
- ไอศกรีมซอร์เบผลไม้ชนิดถ้วย 10%
“บริษัทฯ แบ่วสัดส่วนการขายในต่างประเทศ 99% และในประเทศเพียง 1%” ฐานพงศ์ กล่าวพร้อมเสริมว่า
อย่างไรก็ตามจากปัญหาด้านภูมิอากาศและภัยแล้ง ทำให้ผลไม้ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตมีไม่เพียงพอ ทำให้แม้จะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถผลิตส่งให้กับลูกค้าได้
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้แก้ไขปัญหาและป้องกันความเสี่ยงด้านวัตถุดิบไม่เพียงพอ รวมถึงเพิ่มศักยภาพและกำลังการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตที่เพิ่มขึ้นในทุกปี โดยดำเนินการพร้อมกันใน 2 ทาง คือ
แนวทางแรก บริษัทฯ ลงทุนกว่า 30 ล้านบาท เพื่อกพัฒนาพันธุ์และปลูกสับปะรดวัตถุดิบสำคัญของผลิตภัณฑ์หลักในจังหวัดเชียงรายกว่า 1,300 ไร่ และ สระบุรี กว่า 100 ไร่ ซึ่งจะให้ผลผลิตรวมตั้งแต่ปลายปี 2567 ถึงสิ้นปี 2568 ที่ประมาณ 10 ล้านชิ้น
นอกจากนี้ ยังทำสัญญารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร (Fame Contact) อีก 30 ราย คิดเป็นพื้นที่ปลูกอีกประมาณ 1,000 ไร่ โดยเป็นผลไม้ชนิดต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตไอศกรีม เพื่อเก็บเข้าห้องเย็นของโรงงานที่มีความจุถึง 1,000 ตัน ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตไอศกรีมให้แก่ลูกค้าได้ตลอดปี แก้ทั้งปัญหาการขาดวัตถุดิบและได้ต้นทุนที่ลดลง
“เพือจัดการแก้ไขปัญหาและป้องกันความเสี่ยงด้านวัตถุดิบ” ฐานพงศ์ กล่าว
ส่วนแนวทางที่สอง ด้านการผลิต แม็คซ์ฟู๊ด กรุ๊ป ลงทุนกว่า 200 ล้านบาท ในการขยายและก่อสร้างโรงงานใหม่ จาก 2,000 ตรม. เป็น 5,000 ตรม. โดยเป็นการเพิ่มทั้งศักยภาพ ประสิทธิภาพ และกำลังการผลิตให้สูงขึ้นถึง 3 เท่าตัว จากเดิมวันละ 30,000 ชิ้น เป็น 90,000 ชิ้น หรือ จาก 350 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี เป็น 800 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี
พร้อมสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ไอศกรีมใหม่ให้กับบริษัทฯ ที่มีทั้งรสชาติและเนื้อสัมผัสที่โดดเด่นเป็นจุดแข็งที่แตกต่างและเป็นที่ต้องการบริโภคจากลูกค้าทั่วโลก
โดยโรงงานใหม่ของ แม็คซ์ฟู๊ด กรุ๊ป ถือเป็นโรงงานผลิตไอศกรีมสมัยใหม่ที่อัดแน่นไปด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ด้วยระบบนิเวศน์ในการผลิตและกำจัดของเสียอย่างสมบูรณ์ มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูงและมุ่งเน้นในการสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง
อาทิ นวัตกรรมใหม่ที่เปลี่ยนการใช้ไฟฟ้าเพื่อแช่แข็งไอศกรีมมาใช้ก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซน์หมุนเวียนแทน เพื่อย่นระยะเวลาการผลิตจาก 4 วัน เหลือ 12 นาที สามารถประหยัดพลังงาน ลดค่าไฟฟ้าจากเดือนละกว่า 1 ล้านบาท เหลือ 2 แสนบาทต่อเดือน
นอกจากนี้ ยังติดตั้งโซล่าร์เซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อเป็นพลังงานหมุนเวียนภายในโรงงาน การจัดการขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste) การหมุนเวียนน้ำเสียแบบ 100% ฯลฯ จากการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้จัดการกระบวนการผลิต โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) ทำให้บริษัทฯ ได้รับรางวัล CEO Economass Award 2024 จากนายกรัฐมนตรี และรางวัลบุคคลตัวอย่างภาคธุรกิจแห่งปี 2024 ภาคธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จากมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยอีกด้วย
ฐานพงศ์ กล่าวต่อ สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ของปีนี้ บริษัทฯ ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ไอศกรีมซอร์เบในลูกแต่งโมไซน์มินิ (Mini Watermelon Sorbet Ice Cream) ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ความพิเศษของผลิตภัณฑ์ใหม่นี้คือ การพัฒนาพันธุ์และผลผลิตของแตงโมให้มีขนาดเล็ก แบบไม่มีการตัดต่อพันธุกรรม เพื่อใช้เป็นภาชนะลูกแตงโมสดสำหรับใส่ไอศกรีม โดยหลังจากมีการนำเสนอกับลูกค้าในหลายประเทศก็ได้รับความสนใจมีคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก โดยส่งออกไปยังประเทศเกาหลีก่อนเป็นประเทศแรก
สำหรับแผนการทำตลาด ยังมุ่งเน้นตลาดต่างประเทศเป็นหลัก โดยส่งออกและจัดจำหน่ายอยู่ 7 ประเทศ คือ
- เกาหลี
- จีน
- ซาอุดิอาระเบีย
- ฝรั่งเศส
- เยอรมัน
- ออสเตรเลีย
- เวียดนาม
พร้อมวางเป้าหมายในการขยายตลาดใหม่เพิ่มเติม คือ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อาฟริกา และสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องรอความชัดเจนของผลการเจรจาข้อตกลงด้านภาษีระหว่างรัฐบาลไทยและสหรัฐอีกครั้ง
“มาตรฐานโรงงานใหม่ถือเป็นแต้มต่อที่สำคัญอย่างยิ่งในการขยายตลาดต่างประเทศเนื่องจากผู้จัดจำหน่ายและผู้บริโภคต่างให้ความสำคัญกับทุกองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์ ที่ต้องใส่ใจในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน” ฐานพงศ์ กล่าว
นอกจากการรับจ้างผลิต (OEM) และขยายตลาดในประเทศแล้ว ในปีนี้ทางบริษัทฯ ยังได้มีการเปิดตัวแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของตัวเองในชื่อ แม็คซ์ เฟรช (MaxFresh) อีกด้วย โดยจะรุกตลาดยุโรปและอเมริกา ซึ่งคาดว่ารายได้รวมทั้งรับจ้างผลิต (OEM) ตลาดในประเทศ และตลาดการส่งออก ภายใต้ผลิตภัณฑ์ในแบรนด์ แม็คซ์ เฟรช ปีนี้น่าจะอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ซึ่งเติบโตจากปีที่ผ่านมาประมาศ์ ณ 10%
Alternate-X สรุปให้
แม็คซ์ฟู๊ด โตแตะพันล้านรับผู้ส่งออกไอศกรีมผลไม้ไทยอันดับ 9 ของประเทศ และไทยยังครองอันดับหนึ่งตลาดเอเชีย และอันดับ 4 ของโลก พร้อมแผนขยายกำลังผลิตเพิ่มเน้นนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน รับออเดอร์ล้น-รับดีมานด์ต่างประเทศ ปีนี้เปิดตัว ‘ไอศกรีมในลูกแตงโมมินิ’ ครั้งแรกของโลก ส่งออกเกาหลี วางแผนขยายตลาดตะวันออกกลาง-ยุโรป-อเมริกา เพิ่มด้วยแบรนด์ใหม่ แม็คซ์ เฟรช