หลัง มิสเตอร์เพรสซิเดนต์ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้ส่งจดหมายอย่างเป็นทางการถึงรัฐบาลไทย โดยประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะเดินหน้ามาตรการภาษีใหม่สูงถึง 36% หากไทยยังไม่ปรับโครงสร้างทางการค้าตามข้อเรียกร้อง
BY Jittrapon Ponlawat
หากสแกนข้อความในจดหมายฉบับนี้ พบภาษาที่ใช้ในเนื้อหาสะท้อนกลยุทธ์ ‘ไม้แข็งและไม้นวม’ (Carrot and Stick) อย่างชัดเจน ตอกย้ำบทบาทสหรัฐในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
สิ่งที่น่าสนใจคือ Mood & Tone ของจดหมายฉบับนี้ไม่ได้หว่านล้อมด้วยถ้อยคำอ่อนโยนเหมือนจดหมายทางการทั่วไป หากแต่เปิดหัวด้วยภาษาทางการที่แข็งกร้าวและเผชิญหน้าเต็มพิกัด
คำว่า ‘must’ ในประโยค ‘We must move away from these long-term Trade Deficits’ ชี้ให้เห็นว่าสหรัฐฯ ไม่เปิดทางเลือกอื่นนอกจากไทยต้องทำตาม แม้จะยังไม่มีรายละเอียดว่า “ต้องทำอย่างไร” แต่ถ้อยคำนี้เพียงพอจะส่งแรงกดดันถึงผู้กำหนดนโยบายไทยโดยตรง
ชูภัยคุกคามมั่นคง-สร้างเหตุผลใช้มาตรการรุนแรง
เมื่ออ่านลึกลงไป ประโยคอย่าง ‘This Deficit is a major threat to our Economy and, indeed, our National Security!’ ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ฝั่งสหรัฐฯ ต้องการยกระดับปัญหาขาดดุลการค้าไทย-สหรัฐฯ ให้เป็นเรื่องที่กระทบความมั่นคงแห่งชาติ
นี่คือกลยุทธ์ทางการทูตที่หลายฝ่ายเรียกว่า ‘ทำให้ปัญหาดูใหญ่ เพื่อสร้างเหตุผลในการใช้ไม้แข็ง’ เพราะหากโยงเข้ากับความมั่นคง การใช้มาตรการภาษีที่รุนแรงย่อมถูกอ้างได้ว่าจำเป็น
ใจกลางจดหมายยังโฟกัสไปที่การชี้นิ้วว่าไทย คือ ตัวการสำคัญที่ทำให้สหรัฐต้องเผชิญภาวะขาดดุลเรื้อรัง โดยเฉพาะประโยค ‘caused by Thailand’s Tariff and Non-Tariff Policies’ ซึ่งตีความได้ชัดว่าไทยจะถูกคาดหวังให้ ‘รื้อ’ อุปสรรคทางการค้าเดิมที่เคยใช้ปกป้องตลาดในประเทศ
ขู่แรง…แต่แฝงชวนลงทุน
สัญญาณอีกด้านที่นักวิเคราะห์มองว่าน่าสนใจคือ กลยุทธ์ ‘ไม้แข็ง-ไม้นวม’ (Carrot and Stick) ที่ปรากฏในประโยคต่อเนื่อง ฝั่งหนึ่งขู่จะบวกภาษีเพิ่มทันที หากไทยตอบโต้ด้วยการตั้งกำแพงภาษีของตน
“If you decide to raise your Tariffs, then, whatever the number… will be added onto the 36% that we charge.”
อีกฝั่งหนึ่งก็ชวนให้ไทยเปิดตลาดและลงทุนในสหรัฐด้วยประโยคที่หว่านล้อมกว่าเดิม “We invite you to participate in the extraordinary Economy of the United States”
แต่ก็ยังไม่ทิ้งเงื่อนไขกดดันว่า หากความสัมพันธ์ไม่ดีขึ้น อัตราภาษีอาจ ‘เพิ่มหรือลด’ ได้ตลอดเวลา “Tariffs may be modified, upward or downward, depending on our relationship.”
อีกประเด็นที่ถูกตีความว่าเป็นการสร้างแรงบีบ คือ การกำหนดวันตายตัว 1 สิงหาคม 2025 ซึ่งให้เวลาไทยเพียงไม่กี่สัปดาห์ในการหาทางออกทางการทูตหรือยอมปรับมาตรการตามที่สหรัฐต้องการ
คำว่า “unsustainable Trade Deficits” และ “major threat” ปรากฏซ้ำๆ ยิ่งตอกย้ำภาพว่าปัญหานี้ต้องถูกจัดการทันที ไม่เช่นนั้นไทยอาจเจอบทลงโทษทางภาษีจริงตามที่ขู่ไว้
ประโยคปิดท้ายตีสองหน้า
คำลงท้าย “You will never be disappointed with The United States of America” อาจฟังดูเป็นมิตร แต่ก็เปิดให้ตีความได้สองทาง หากยอมเดินตามเกมสหรัฐก็พร้อมเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจเต็มที่ แต่หากเพิกเฉย สหรัฐก็พร้อม “ทำให้ผิดหวัง” ด้วยมาตรการเข้มข้นกว่าเดิม
สัญญาณจากจดหมายครั้งนี้ยังลดทอนความเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียม โดยระบุชัดว่าความสัมพันธ์การค้าระหว่างไทย-สหรัฐ “far from Reciprocal” สหรัฐจึงเห็นว่าตนต้องยกระดับมาตรการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ
สถานการณ์นี้สะท้อนว่ารัฐบาลไทยอาจต้องเตรียมกลยุทธ์ตอบโต้อย่างรอบคอบ เพราะหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ทันเส้นตาย สิงหาคมนี้ อัตราภาษี 36% ที่แข็งกร้าว อาจกลายเป็นมาตรการจริงที่กระทบการค้าไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จูงใจด้วยแครอทแต่กดดันผ่านไม้เรียว
จากบริบทในจดหมายของทรัมป์ ถึงรัฐบาลไทยในครั้งนี้ หากมองในมุการตลาดยังสะท้อนถึงการนำกลยุทธ์ Carrot and Stick Marketing (การตลาดแครอทและไม้เรียว) ซึ่งเป็นการตลาดเชิงจิตวิทยา ที่ใช้แรงจูงใจล่อใจ ‘แครอท’ และแรงกดดัน สร้างแรงจูงใจเชิงลบด้วยไม้เรียวมาบีบคั้นควบคู่กัน เพื่อเร่งการตัดสินใจหรือเปลี่ยนพฤติกรรมเป้าหมาย ในพร้อมกัน
กลยุทธ์นี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่ต้องการจากกลุ่มเป้าหมายเปรียบเสมือนการจูงใจให้ลา เดินโดยการใช้แครอทล่อ และใช้ไม้เรียวเพื่อให้ลาเดินต่อไปหากไม่ยอมเดินตามนั่นเอง!!
ใช้กลยุทธ์นี้ กับใคร
ขณะทื่ Carrot and Stick Marketing/Strategy มักเป็นกลยุทธ์ที่นำไปใช้กับคู่ค้า (Channel Partners), ตัวแทนจำหน่าย / Distributor และ ลูกค้าธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) รวมถึงลูกค้าทั่วไปในบางสถานการณ์
โดย ตัวอย่างการใช้งานในโลกธุรกิจ อาทิ
1. แบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภค และ ร้านค้าปลีก
Carrot: ถ้าร้านค้าช่วยผลักสินค้าใหม่ → จะได้รับ Display Fee, ส่วนลด, งบส่งเสริมการขาย
Stick: ถ้าไม่ขายตามเป้า → จะไม่ได้รับโปรโมชันรอบถัดไป หรือไม่ได้สิทธิเข้าร่วมแคมเปญใหญ่
2. บริษัท XXX → ลูกค้าองค์กร
Carrot: ถ้าต่อสัญญาเร็ว → จะได้รับส่วนลดพิเศษ, Feature ฟรี
Stick: ถ้าไม่ต่อ → ราคาจะกลับเป็นราคาปกติ, บริการหลังการขายจะลดระดับลง
3. การส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้า
Carrot: สมัครภายใน 7 วัน รับของแถม
Stick: ถ้ารอเกินโปรโมชั่น จะเสียสิทธิ์ทั้งหมด (จำกัดเวลา = กดดัน)
และด้วยเนื้อหาในจดหมายนี้ของ ‘ทรัมป์’ ที่ส่งตรงถึงรัฐบาลไทย พร้อมกับวางตำแหน่งให้ ’ไทย’ รับบทบาทเป็นหนึ่งในลูกค้าของสหรัฐฯ ที่ในเวลานี้จะต้องเลือกพร้อมเร่งตัดสินใจแล้วว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ!!
Alternate-X สรุปให้
จดหมายจากโดนัลด์ ทรัมป์ถึงรัฐบาลไทย สะท้อนกลยุทธ์ ‘Carrot and Stick Marketing’ ที่ใช้แรงกดดันคู่กับแรงจูงใจในการโน้มน้าวเชิงการค้า สหรัฐขู่ว่าจะขึ้นภาษีไทยสูงถึง 36% หากไม่ปรับโครงสร้างการค้า พร้อมยื่นข้อเสนอให้นักลงทุนไทยเข้าร่วมเศรษฐกิจอเมริกัน โดยข้อความในจดหมายเต็มไปด้วยถ้อยคำแข็งกร้าวและบีบบังคับอย่างเป็นระบบ ซึ่งถูกตีความว่าเป็นการตลาดจิตวิทยาที่แม่นยำ ใช้ได้ทั้งในบริบทการทูตและธุรกิจ B2B