‘ปพน มนัสภากร’ นักธุรกิจที่อยู่ในวงการอะไหล่รถยนต์มานานกว่า 20 ปี กับการหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ หลังหวั่นใจจากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะเข้ามาดิสรัปต์อุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยในอนาคต
จากความกังวลในสถานการณ์ดังกล่าว ได้แปรสู่การบริหารความเสี่ยงธุรกิจเดิมที่มีอยู่ และ เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักทำให้ ‘เขา’ ตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยน (Trading) สินค้าลักซูรี่ แบรนด์เนม โดยใช้ความชื่นชอบเป็นทุนเดิม
โดยเฉพาะในหมวดนาฬิกาหรูหรา อย่างแบรนด์ Rolex (โรเล็กซ์) Richard Mille (ริชาร์ด มิลล์) Patek Philippe (ปาเต็ก ฟิลลิปป์) ที่ ‘เขา’ ไล่ซื้อเก็บและลงทุน จนกลายเป็นของสะสมส่วนตัว มาตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมา กระทั่งต่อยอดสู่ความเขี่ยวชาญในการ ‘ดูของ’ แบรนด์เนมนาฬิกาหรู ถึงในระดับ Expert โดยปริยายไปด้วย
เรียกว่า เมื่อเห็นของปุ๊ป หรือแค่เห็นรูปที่ส่งมาให้ดู เขาใช้เวลาแค่ 5 นาทีก็ตีราคาประเมินนาฬิกาหรูแบรนด์นั้นได้แล้ว
จากแพสชั่นบวกกับความชำนาญด้านนี้ ได้นำไปสู่การทำธุรกิจล่าสุดสินเชื่อสินค้าแบรนด์เนมระดับลักซูรี่ Brandname Money ในฐานะ ‘ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร’ (CEO) บริษัท แบรนด์ มันนี่ จำกัด ซึ่งก่อตั้งเมื่อเดือน มิถุนายน ปี2567 ที่ผ่านมา ด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท
ปพน บอกว่า ธุรกิจใหม่นี้ นอกเหนือจากแพสชั่นและความชอบเก็บสะสมไอเทมแบรนด์เนมลักซูรี่โดยเฉพาะนาฬิกา ตลอดช่วงที่ผ่านมา ยังทำให้เขามองเห็นโอกาสทางธุรกิจในตลาดนี้ที่พบว่ามีอัตราการเติบโตสูงต่อเนื่องอีกด้วย
จากการเก็บข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมูลค่าตลาดการซื้อขายสินค้าแบรนด์เนม ลักซูรี่ ในประเทศไทย มีมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 4,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และคาดว่าในปี 2567-2571 จะขยายตัว 5.62% ทำให้ประเทศไทย ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของมูลค่าตลาดสินค้าแบรนด์เนมในอาเซียน
ขณะที่สิงคโปร์ มูลค่าตลาดอยู่ที่ 4,060 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ช้าลงที่ 3.49% ส่วนมูลค่าตลาดสินค้าแบรนด์เนม ‘ลักซูรี่แฟชั่น’ของโลกอยู่ที่ 145.40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2567
“สินค้าแบรนด์เนมลักซูรี่ในไทย ขยายตัวขึ้นตามกลไกความต้องการในกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะนักธุรกิจคนรุ่นใหม่ที่ขยายตัวสูงในช่องทางธุรกิจออนไลน์ ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา” ปพน กล่าวพร้อมเสริมว่า
ต่อการได้ครอบครองสินค้าแบรนด์เนมลักซูรี่ทั้งในไอเทมหรือคอลเล็กชั่นที่ชื่นชอบในกลุ่มเป้าหมายที่นอกจากให้ผลทางด้านจิตใจและการสะท้อนถึงความสำเร็จทางสังคมแล้ว ในปัจจุบันสินทรัพย์ลักซูรี่แบรนด์เนมประเภมต่างๆ อาทิ กระเป๋า, เครื่องประดับ และนาฬิกา ยังเป็นสินทรัพย์เพื่อใช้เป็นแหล่งทุนสำรองในอนาคต ได้อีกด้วย
“เรายังเห็นเพนพอยต์ ทั้งจากส่วนตัวและคนใกล้ชิดว่าไอเทมลักซูรี่แบรนด์บางชิ้นที่เป็นคอลเล็กชั่นพิเศษ ซึ่งเราต้องการเป็นเจ้าของแต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่ต้องการใช้จ่ายในครั้งเดียวให้กับสินค้าชิ้นนั้น เช่น นาฬิกาหรูบางรุ่นมีมูลค่าราว 1.2 ล้านบาท แต่บางครั้งเราอยากใช้เงินเพียงส่วนหนึ่งไว้ก่อนและเก็บเงินอีกส่วนหนึ่งไว้กับตัวเองเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางสภาพคล่องธุรกิจในช่วงเวลานั้นๆ พร้อมกันด้วย ทำให้มองเห็นโอกาสทางธุรกิจจากช่องว่างนี้” ปพน ให้รายละเอียด
3 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อแบรนด์หรู
ขณะที่ บริษัทแบรนด์เนม มันนี่ จดทะเบียนในหมวดธุรกิจ การให้สินเชื่ออื่นๆซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น โดย บริษัทฯ สามารถดำเนินการด้านบริการสินเชื่อเช่าซื้อและขายฝากแบรนด์เนม สินค้าทั้ง 3 กลุ่ม คือ กระเป๋า นาฬิกา เครื่องประดับ ลักซูรี่ แห่งเดียวในประเทศไทย และแห่งแรกในโลก
ปัจจุบันให้บริการผลิตภัณฑ์สินเชื่อ 3 รูปแบบ ได้แก่
- สินเชื่อแบบ ผ่อนไป ใช้ไป ให้ลูกค้าได้ครอบครองแบรนด์เนมที่ต้องการได้ทันทีหลังได้รับอนุมัติ ไม่ต้องรอ ไม่ต้องใช้บัตรเครดิต เพียงดาวน์เริ่มต้น 30% ของราคาสินค้า
จุดเด่น
-
- ดอกเบี้ยเริ่มต้น 0.99% ต่อเดือน
- ผ่อนนานสูงสุด 24 เดือน
- อนุมัติไวภายใน 3 วัน
- กลุ่มเป้าหมาย ผู้ที่ต้องการแบ่งชำระค่าใช้จ่าย และมีรายได้ประจำ
- สินเชื่อแบบ ผ่อนจบ รับของ เป็นสินเชื่อเพื่อแบรนด์เนม ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของแบรนด์เนม โดยไม่ต้องมีภาระผูกพันทางการเงินมากนัก
จุดเด่น
-
- เงื่อนไขดาวน์เริ่มต้น 30% ของราคาสินค้า เมื่อผ่อนจบรับสินค้าไปเลยทันที
- ดอกเบี้ยเริ่มต้น 1.25% ต่อเดือน
- อนุมัติ ภายใน 1 ชั่วโมง
- ไม่ตรวจสอบเครดิตบูโร
- ผ่อนนานสูงสุด 10 เดือน
- กลุ่มเป้าหมาย ผู้ที่ไม่ต้องการความยุ่งยากในการตรวจเช็คเครดิตในการเป็นเจ้าของแบรนด์เนม
- บริการขายฝาก โดยให้บริการขายฝากนาฬิกา กระเป๋า และเครื่องประดับลักซูรี่แบรนด์เนม
จุดเด่น
-
- ระบบเก็บรักษาสินค้าของลูกค้าไว้อย่างปลอดภัยในตู้นิรภัยมาตรฐานสากล
- ลูกค้า จะได้รับเงินทันทีภายใน 1-2 ชั่วโมง
“แบรนด์เนมไม่ใช่แค่ทรัพย์สิน แต่ยังเป็นโอกาสให้ผู้คนสามารถใช้สินทรัพย์ที่มีคุณค่าเหล่านี้ในการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน โดยไม่ต้องเสียของรักไป” ปพน ย้ำพร้อมเสริมอีกว่า “ในช่วงที่ผ่านมา คนไทยรุ่นใหม่นิยมใช้สินค้าแบรนด์เนมมากขึ้น ทั้งซื้อเพื่อเป็นรางวัลให้ตัวเอง มีคุณค่าทางจิตใจ และยังเป็นการสร้าง ภาพลักษณ์ ที่แสดงถึงความมีรสนิยม และในบางส่วนมองว่าเป็นการลงทุนระยะยาว ทั้งกระเป๋า นาฬิกา รวมทั้งเครื่องประดับที่เป็นแบรนด์ลักซูรี่”
จากแนวโน้มดังกล่าว ทำให้แบรนด์หรูระดับโลกเหล่านี้ ใช้ดารา นักร้องหรือไอดอลของไทยเป็นพรีเซนเตอร์และแบรนด์แอมบาสเดอร์มากขึ้น พร้อมกับการเข้ามาเปิดช็อปแบรนด์เนมในไทยมากขึ้น
แบรนด์เนม = การลงทุนสินทรัพย์
ปพน กล่าวว่า จุดแข็งของ Brandname Money คือ ดอกเบี้ยต่ำ อนุมัติไว และขั้นตอนการสมัครไม่ยุ่งยาก เพื่อให้ลูกค้าสามารถเป็นเจ้าของแบรนด์เนมได้อย่างมั่นใจและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญบริษัทฯ ยังมีความเชี่ยวชาญในสินค้าลักซุรี่ทำให้รู้ราคาตลาด สามารถให้วงเงินสินเชื่อที่สูงกับลูกค้าได้เหมาะสม
“สินค้าแบรนด์เนมไม่ใช่แค่ทรัพย์สินทั่วไป แต่เป็นโอกาสให้ผู้คนสามารถใช้สินทรัพย์ที่มีคุณค่า ในการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินได้ โดยแบรนด์เนม มันนี่ มีเป้าหมายที่จะช่วยให้สินค้าแบรนด์เนมกลายเป็นโอกาสทางการเงินสำหรับทุกคน” ปพน กล่าว พร้อมเสริมว่า
นอกจากนี้ Brandname Money ยังมีพันธมิตร ที่เป็นร้านขายสินค้าแบรนด์เนมชั้นนำมากกว่า 40 ร้าน และยังรับสมัครร้านค้าที่ต้องการขยายฐานลูกค้า ไปยังกลุ่มลูกค้าที่ต้องการซื้อแบรนด์เนมผ่อนได้
โดย แบรนด์เนม มันนี่ จะดูแลเรื่องสินเชื่อให้ลูกค้าของร้าน โดยร้านค้าจะได้รับเงินค่าสินค้าเต็มจำนวน และให้ลูกค้ามาผ่อนสินค้ากับแบรนด์เนม มันนี่ โดยปัจจุบัน บริษัทมีสถาบันการเงิน และนักลงทุน Investor หลายกลุ่ม สนใจติดต่อเข้ามาขอเป็นพันธมิตร แต่ยังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา
เพิ่มพอร์ตสินเชื่อพันล.ใน3 ปี
ปพน กล่าวว่า การทำธุรกิจ Brandname Money ในช่วงไม่ถึง 1 ปี ที่ผ่านมา ได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว ประมาณ 100 ล้านบาท แบ่งเป็น
- สินเชื่อขายฝากกว่า 80 ล้านบาท
- สินเชื่อเช่าซื้อ หรือ ผ่อนไปใช้ไปประมาณ 15 ล้านบาท
- ผ่อนจบ รับของอีก 4-5 ล้านบาท โดยคาดว่าสิ้นปีนี้มูลค่าพอร์ตสินเชื่อจะจบปีที่ 300 ล้านบาท
โดยวางเป้าหมายภายใน 3 ปีนี้หน้า หรือราวปี 2571 จะเพิ่มพอร์ตสินเชื่อเป็น 1,000 ล้านบาท และหลังจากนั้นมีแผนที่จะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมเงินทุนมาขยายธุรกิจที่คาดว่าจะมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในอนาคต
สินค้าแบรนด์เนม โตสวนศก.ซึม
ปพน ย้ำว่า “ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี แต่ธุรกิจสินเชื่อแบรนด์เนมยังสามารถเติบได้ เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ก็จะมีความต้องการซื้อสินค้าแบรนด์เนมมากขึ้น ทำให้มีการใช้สินเชื่อเพื่อซื้อแบรนด์เนมหรือสินค้า LUXURY มากขึ้น แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวหรือฝืดเคือง สินเชื่อขายฝากก็มีโอกาสเติบโตขึ้นได้ เพราะมีลูกค้านำทรัพย์สินแบรนด์เนมของตัวเอง มาแปลงเป็นเงินสดเพื่อให้มีสภาพคล่องทางการเงิน โดยใช้บริการสินเชื่อขายฝาก เช่นในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้”นายปพนกล่าว
Alternate-X สรุปให้
‘ปพน มนัสภากร’ เห็นโอกาสเปลี่ยนแบรนด์เนมหรูเป็นแหล่งทุนสำรอง สร้างธุรกิจสินเชื่อ Brandname Money ต่อยอดแพสชั่นนาฬิกาหรูสู่บริการผ่อนแบรนด์เนมและขายฝากครบวงจร ด้วยเห็นโอกาสว่าสินค้าแบรนด์เนมวันนี้ไม่ใช่แค่แฟชั่น แต่เป็นการลงทุนที่เพิ่มสภาพคล่องได้ Brandname Money ชูจุดแข็งดอกเบี้ยต่ำ อนุมัติไว เก็บรักษาทรัพย์สินปลอดภัย ตั้งเป้าขยายพอร์ตสินเชื่อแตะ 1,000 ล้านบาทใน 3 ปี พร้อมเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ