60 วัน หลังแผ่นดินไหว ตลาดอสังหาฯรีเซ็ตมาตรฐานอยู่อาศัย ‘แบรนด์’ จริงใจ-ปลอดภัย-ได้ไปต่อ

แสนสิริ มองอสังหาฯไทยหลังแผ่นดินไหวใหญ่เขย่าเมือง สู่ยุคบอกต่อแบรนด์ไหนทำดี-โครงการปลอดภัย-จริงใจ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสู่มาตรฐานใหม่ผู้พัฒนาโครงการ

 

‘28 พ.ค.’ ครบรอบ สองเดือนเต็มเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่นอกจากสร้างความสูญเสียต่อชีวิตที่ประเมินค่าไม่ได้แล้ว ขณะเดียวยังส่งแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ในภาคอสังหาริมทรพย์ โดยเฉพาะโครงการฯแนวสูงคอนโดมีเนียมที่รับความเสียหายในระดับที่แตกต่างกันออกไป ทว่ามีจุดร่วมเดียวกัน คือ ความมั่นใจของผู้บริโภคนับจากนี้ไปจะพิถีพิถันเลือกทั้งโครงสร้าง การออกแบบตัวโครงการฯ และ ‘แบรนด์’ จากผู้พัฒนาอสังหาฯ  ว่ารายใด ‘ทำถึง’ ทั้งการดูแลจิตใจและให้ความช่วยเหลือลูกบ้านได้มากที่สุด  ที่สะท้อนถึง ‘ประสบการณ์’ ตรงที่ลูกค้าได้รับจากเหตุการณ์ดังกล่าว ในช่วงที่ผ่านมา

 

ขณะที่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาโครงการอสังหาฯ รายใหญ่ ‘แสนสิริ’ (Sansiri) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญแบ่งปันมุมมอง ‘BEYOND THE BLUEPRINTS’ 60 วัน หลังแผ่นดินไหว ก้าวต่อด้วยพลังความร่วมมือสร้างความตระหนักรู้ ย้ำอาคารสูงในกรุงเทพฯ ปลอดภัย

 

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ภาควิชาวิศวกรรมโครงสร้างสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (AIT) และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ กล่าวว่า ภาคอสังหาฯ ไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในด้านมาตรฐานการออกแบบสำหรับอาคารใหม่ จากการออกกฎกระทรวงและมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะกฎกระทรวงปี 2564 ถือเป็นพัฒนาการที่ดีมากสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย

 

“กฎหมายนี้บังคับให้การก่อสร้างอาคารใหม่ต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงขึ้น มีประเภทอาคารที่หลากหลายขึ้น”

 

นอกจากนี้โครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ที่สร้างขึ้นภายใต้กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564 และมาตรฐาน มยผ. 1301/1302-61 นับว่ามีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

โดยในอนาคต ควรนำนวัตกรรมใหม่ๆ ที่พัฒนาและใช้กันแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศมาช่วยลดระดับการโยกตัวและการสั่นไหวของอาคารในประเทศไทย นวัตกรรมเหล่านี้ ได้แก่ อุปกรณ์ที่ช่วยดูดซับพลังงานการสั่นไหวของอาคาร เช่น Viscous Dampers หรือ Oil Dampers

 

ขณะเดียวกัน ควรสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนเกี่ยวกับความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว และแนวทางในการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ รวมถึงการพัฒนาแผนรับมือเหตุฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบจากแผ่นดินไหวเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

 

จุดเปลี่ยน ยกระดับอสังหาฯ

 

ด้าน อุทัย อุทัยแสงสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วันนี้ ตลอดระยะเวลา 40 ปี แสนสิริ ในการพัฒนาธุรกิจผ่านการสร้างโครงการแนวสูง 225 โครงการ รวมกว่า 90,000 ยูนิต  ซึ่งบริษัทฯ เห็นโอกาสโอกาสนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการยกระดับมาตรฐานทั้งอุตสาหกรรม

 

“จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา แสนสิริพิสูจน์ว่าการอยู่อาศัยในโครงการแนวสูงมีความมั่นคงปลอดภัยจริง และสิ่งที่ทำให้แสนสิริฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ได้คือ เครือข่ายพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่ง ทั้ง พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ผู้ดูแลงานนิติบุคคลระดับมืออาชีพ, ผู้รับเหมารายใหญ่ ที่เร่งเข้ามาสนับสนุนงานตั้งแต่วันแรก, ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ให้คำแนะนำเชิงเทคนิคและร่วมลงพื้นที่, ทีมลิฟต์  หัวใจสำคัญของการขนส่งในตึกสูงที่ทำงานหนักที่สุดทีมหนึ่ง และบริษัทประกัน ที่เคียงข้างลูกบ้านอย่างมั่นคง” ”  อุทัย กล่าวพร้อมเสริมว่า

 

นอกจากนี้ แสนสิริ ยังได้นำข้อมูลจากเหตุการณ์จริงมารีวิวและปรับปรุงคู่มือมาตรฐานการก่อสร้าง การเตรียมพร้อมและซ้อมแผนฉุกเฉินอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงระบบเตือนภัยและการตรวจสอบที่ช่วยป้องกันปัญหาก่อนเกิดขึ้น เป็นการรวมพลังทั้งวงการเพื่อเป้าหมายเดียว คือ ที่พักอาศัยที่แข็งแรง ปลอดภัย

 

แผ่นดินไหว กระทบเชื่อมั่นระยะสั้น

 

ด้าน บริสุทธิ์  กาสินพิลา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โฮมบายเออร์ ไกด์ จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้งหลักสูตร The Next Real กล่าวว่า อสังหาฯ ไทย ผ่านมาแล้วทุกวิกฤติ ทั้งน้ำท่วมใหญ่, โควิด เชื่อมั่นว่าสถานการณ์แผ่นดินไหวในไทยที่ผ่านมา มีผลกระทบเพียงระยะสั้นเท่านั้น

 

“ตรงกันข้ามสำหรับแบรนด์ที่ทำได้ดี โครงการมั่นคงปลอดภัย มีการดูแลลูกค้าอย่างรวดเร็ว จะได้รับความเชื่อมั่นและเกิดการบอกต่อ”

 

สำหรับในระยะยาว ตลาดอสังหาฯ จะปรับตัวและฟื้นตัวได้โดยมีการเปลี่ยนแปลงในกฎระเบียบและการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค สิ่งที่สำคัญ คือการร่วมมือกันใน Ecosystem จับมือกันฝ่าก้าวข้ามทุกวิกฤติมาได้อย่างแข็งแกร่ง นำบทเรียนการก้าวข้ามผ่าน สู่การพัฒนาโปรดักส์ใหม่ที่มีคุณภาพ มีเทคโนโลยีการก่อสร้างรูปแบบใหม่ๆ และมาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มข้นขึ้นอีกในอนาคต

 

โดยเฉพาะงานบริการหลังการขาย After Sale Service จะเป็นหัวใจหลักของผู้ประกอบในการเร่งเครื่องพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละเซ็กเมนต์

 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะยังคงต้องปรับตัวในหลายมิติ ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความแข็งแรง ปลอดภัย ตรงกับความต้องการของตลาด และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการตลาดและการขายมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มคนสูงอายุ (Aging Society) หรือกลุ่มที่ต้องการบ้านเพื่อการลงทุนปล่อยเช่า”

 

รีซ็ตมาตรฐาน อสังหาฯ

 

ด้าน องอาจ สุวรรณกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโสสายงานพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสนสิริ ได้เข้าไปจัดการความโกลาหลที่เกิดขึ้น ด้วยเป้าหมายสูงสุด คือความปลอดภัยและความสบายใจในการพักอาศัยของลูกบ้าน

 

พร้อมจัดตั้ง War Room และทีมงานทุกด้านที่เกี่ยวข้อง และหยุดงานขายชั่วคราวเพื่อทุ่มเททรัพยากรทั้งหมด และประสานงานกับพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญจัดทำคู่มือ Key Check List ให้วิศวกรลงพื้นที่ทันทีเพื่อตรวจสอบอย่างละเอียด ทั้งงานโครงสร้างภายนอกและภายใน ไปจนถึงระบบป้องกันอัคคีภัย และความมั่นใจระบบความปลอดภัยของลิฟต์

 

จากบทเรียนครั้งนี้ แสนสิริจะนำข้อมูลจาก LIV-24 ซึ่งเป็นศูนย์ดูแลความปลอดภัยแบบเรียลไทม์ 24 ชม. มาศึกษาและใช้ประโยชน์สูงสุดในการรับมือวิกฤตในอนาคต รวมถึงการนำเคสความเสียหายต่าง ๆ มาวางแผนใหม่ เช่น การทำฝ้าและผนังให้มีความยืดหยุ่นในการรับมือแผ่นดินไหวมากขึ้น ตลอดจนนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วย

 

โดยเฉพาะการพัฒนาแนวทางปฏิบัติการออกแบบโครงสร้างในอาคารสูงที่แสนสิริ ศึกษามาตั้งแต่ปี 2560 จะถูกรีวิวและปรับปรุงใหม่ร่วมกับสถาบันการศึกษาและพาร์ตเนอร์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และนำมาตรฐานระดับสากลมาอ้างอิงเพิ่มเติม เพื่อสร้างความมั่นใจสูงสุดให้กับลูกบ้านในทุกสถานการณ์

 

มุ่งนวัตกรรมการก่อสร้าง

 

ด้าน ดร.วีระศักดิ์ วานิชวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฑีฆาก่อสร้าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “แผ่นดินไหวครั้งนี้อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่เราสามารถทำให้ครั้งต่อไป ให้ไม่เป็นวิกฤติ โดยยกระดับความพร้อมอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่วันนี้”

 

นอกจากนี้ นวัตกรรมที่อยากเห็นในวงการก่อสร้าง คือ การใช้วัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปมากขึ้น เช่น ผนังน้ำหนักเบาโครงโลหะ ที่มีความแข็งแรงรับแรงและกันเสียงได้ดี ซึ่งเมื่อเกิดการแตกร้าว อาทิ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จะสามารถซ่อมแซมได้ง่ายกว่าผนังปูน รวมถึงให้เห็นภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมด้านความปลอดภัยอย่างจริงจัง

 

บทเรียนอาคารถล่ม – ‘Bad Conditions’

 

ด้าน กฤษฎา แท้ประสาทสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินฟรา กรุ๊ป จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านอาคารสูงและแรงลมแผ่นดินไหว กล่าวว่า สาเหตุของอาคารถล่มที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและต่างประเทศ มาจาก Bad Conditions หลายประการที่มาประกอบกัน เช่น จุดต่อที่ทำไม่สมบูรณ์เพียงจุดเดียว แต่เมื่อรวมกับการเปลี่ยนแปลงฟังก์ชันการใช้งานภายในอาคาร หรือการเปลี่ยนแปลงของน้ำใต้ดิน ก็อาจนำไปสู่อาคารถล่มอย่างคาดไม่ถึงได้

 

ฉะนั้น การออกแบบที่ดี ต้องการผู้รับเหมาผู้ควบคุมงานที่ดี และสิ่งสำคัญคือเจ้าของโครงการจะต้องเข้าใจและให้การสนับสนุน แม้จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมก็ตาม เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จะพิสูจน์ผลงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ออกแบบและผู้รับเหมา สิ่งสำคัญคือการเคารพในวิชาชีพ มีความรับผิดชอบ และตั้งใจทำงาน

 

“เพราะผลงานที่ดีจะสะท้อนเพอร์ฟอร์แมนซ์ของอาคาร และขอฝากถึงทุกภาคส่วนให้รักษาคุณภาพมาตรฐานงานออกแบบ-ก่อสร้าง โดยเฉพาะการใช้วัสดุก่อสร้างอย่างเหล็กและคอนกรีตที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และเสนอให้มีการสุ่มตรวจคุณภาพหน้างานไม่ใช่แค่ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น” กฤษฎา กล่าว

 

รับมือเร็ว-สื่อสารเรียลไทม์    

 

ด้าน นฤมล อาภรณ์ธนกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายบริหารอาคารที่พักอาศัย บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ดูแลโครงการกว่า 400 แห่ง ครอบคลุมลูกบ้านมากกว่า 100,000 ครอบครัว ที่จะต้องให้ความสำคัญทั้งความรู้สึกและความปลอดภัยของลูกค้า พร้อมจัดตั้ง War Room ทันทีเพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ มีการสื่อสารสถานการณ์ที่ถูกต้อง แม่นยำ เพื่อสร้างความมั่นใจและลดความตื่นตระหนก

 

สำหรับเทรนด์ในอนาคต มองว่าควรมีการพัฒนา Data Center การเข้าถึงข้อมูลลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงวัย ผู้ป่วย ที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะในเหตุการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นต้องอพยพ เพื่อที่สามารถเข้าช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที และการใช้เทคโนโลยีของ LIV-24 ซึ่งนำ AI มาใช้เพื่อความปลอดภัยในที่อยู่อาศัย โดยระบบสามารถประมวลผลจากข้อมูลแบบเรียลไทม์

 

ความท้าทาย ธุรกิจประกันฯ 

 

ด้าน วิญญู อังศุนิตย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความท้าทายในการจัดการสถานการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้คือการรับมือกับจำนวนการเคลมที่เข้ามาอย่างมาก โดยเฉพาะจากลูกค้ารายย่อย โดย บริษัทฯ ได้เร่งกระบวนการพิจารณาและจ่ายสินไหมทดแทน เน้นการสำรวจความเสียหายและอนุมัติการจ่ายเคลมอย่างเป็นธรรม พร้อมให้ความสำคัญกับการควบคุมราคาค่าซ่อมแซม โดยเจรจากับผู้รับเหมาเพื่อให้มั่นใจว่าค่าใช้จ่ายสมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อลูกค้า

 

ขณะเดียวกัน ยังร่วมมือกับหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐในการทำงานใกล้ชิดกับสำนักงาน คปภ. และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องประกันภัยและภัยธรรมชาติให้แก่ประชาชน และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในเรื่องความจำเป็นของการมีประกันภัย ที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในยามที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดหมายได้

 

Alternate-X สรุปให้ 

ครบ 60 วันหลังเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ ส่งผลให้วงการอสังหาฯไทยต้องรีเซ็ตมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมแนวสูงที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความแข็งแรงของโครงสร้างและการตอบสนองของแบรนด์มากกว่าเดิม โดย แสนสิริ ได้ออกมาบริหารวิกฤตอย่างเรียลไทม์พร้อมร่วมพันธมิตรทุกภาคส่วนพัฒนามาตรฐานใหม่การก่อสร้างโครงการอยู่อาศัยสอดคล้องกับกฎกระทรวงปี 2564 ที่เน้นการออกแบบต้านแผ่นดินไหว ส่วนตลาดคาดการณ์ว่าแบรนด์ที่แสดงความรับผิดชอบและมีบริการหลังการขายแข็งแกร่งจะได้เปรียบในการแข่งขัน ส่วนเทรนด์อนาคตจะเน้นการใช้ผนังเบาและระบบป้องกันแรงสั่นสะเทือนแบบประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้อยู่อาศัยในระยะยาว

บทความล่าสุด

COLLABORATE IDEAS, CREATE SUCCESS


FOLLOW US

© 2024 Maxideastudio. All Rights Reserved.