อสังหาฯไทย ในปี68 ยังเหนื่อยอยู่ เหนื่อยต่อ ซัพพลายล้นรอระบายไม่ต่ำกว่า 3 ปี สวนดีมานด์ซึม-กำลังซื้อแผ่ว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปัจจุบันอสังหาริมทรัพย์ ปี 2568 หดตัวต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 3 สะท้อนจากตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย (อ้างอิง REIC) ในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค. – ก.พ.) ยังคง “ติดลบถึง 13%“ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน (YoY) ดังนี้
- ปี 2568 หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ จำนวน 38,824 หน่วย
- ปี 2567 หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ จำนวน 44,635 หน่วย
ขณะที่ หลายจังหวัดใหญ่ มียอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยชะลอตัวลงเช่นกัน ยกเว้น ‘ภูเก็ต’ ที่ยังเติบโตได้ดี โดยพบว่า
- กทม. และปริมณฑล จำนวน 17,727 หน่วย ลดลง -14.6%
- ชลบุรี จำนวน 3,931 หน่วย ลดลง -9.6%
- เชียงใหม่ จำนวน 1,696 หน่วย ลดลง -10.7%
- ภูเก็ต จำนวน 1,272 หน่วย เพิ่มขึ้น +8.5%
- ระยอง จำนวน 1,226 หน่วย ลดลง -3.4%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ปี 2568 หดตัว -15.2% (YoY) แม้จะมีมาตรการรัฐ ทว่าตลาดเผชิญแรงกดดันจากกำลังซื้อแผ่วลง สวนทางซัพพลายที่ยังมีสูง
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยสนับสนุน และปัจจัยกดดัน 3 ประการ ดังนี้
ปัจจัยบวก
1.มาตรการการลดค่าธรรมเนียมที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท (22 เม.ย. 68 – 30 มิ.ย. 69)
- ค่าจดจำนอง จาก 1% เหลือ 0.01%
- ค่าโอนกรรมสิทธิ์ จาก 2% เหลือ 0.01%
- มาตรการผ่อนคลาย LTV ทุกสัญญา โดยซื้อบ้านหลังที่ 2 เป็นต้นไปไม่ต้องวางเงินดาวน์ กู้เต็มได้ 100% (1 พ.ค. 68 – 30 มิ.ย. 69)
- อัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง
ปัจจัยเสี่ยง
- ความต้องการที่อยู่อาศัยยังซบเซา จากกำลังซื้อและหนี้สูง
- เหตุการณ์แผ่นดินไหวกระทบดีมานด์ความต้องการคอนโดตึกสูงบางโครงการ
- ซัพพลายเหลือขายของที่อาศัยมีมากกว่า 300,000 หน่วย ต้องใช้เวลาระบายอย่างต่ำ 3 ปี
Alternate-X สรุปให้
อสังหาฯ ไทยปี 2568 ยังเผชิญแรงกดดัน ยอดโอน 2 เดือนแรกติดลบ 13% ซัพพลายล้นตลาดกว่า 300,000 หน่วย ใช้เวลาเคลียร์ไม่ต่ำกว่า 3 ปี กำลังซื้อหด ความต้องการซบ ภาพรวมเข้าสู่ปีที่ 3 ของการชะลอตัว ‘ภูเก็ต’ เป็นจังหวัดเดียวที่เติบโตสวนทางตลาด เพิ่มขึ้น 8.5% แม้รัฐออกมาตรการกระตุ้น แต่ยังมี 3 ปัจจัยเสี่ยงฉุดตลาดฟื้นตัว