ตลาดการศึกษาไทย จะปรับตัวยังไง? เมื่อเด็กเกิดใหม่ลด-ใบปริญญาไม่สำคัญเท่าทักษะใหม่

แนวโน้มเด็กเกิดใหม่ลดลงทั่วโลก ที่มีผลต่อหลายธุรกิจนับจากนี้ไป ทำให้ตลาดการศึกษาในไทย ทั้งรัฐและเอกชนต่างปรับตัวเพื่อผลิต ‘คน’ มารองรับแรงงานแห่งอนาคต

 

สอดคล้องกับ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เผยข้อมูลประชากรไทย ปี 2567 มีรวมทั้งสิ้น 65,951,210 คน พร้อมระบุอัตราการเกิดของประชากร มีตัวเลขอยู่ที่ 462,240 คน ถือว่าต่ำกว่า 5 แสนคน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 มีแนวโน้มการเกิดที่สูงขึ้นราว 519,000 กว่าคน

 

ด้าน พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า อัตราการเกิดของประชากรไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นแนวโน้มเดียวกับทั่วภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดใหม่ของปประชากรลดลงเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนในอาเซียนมีประเทศสิงคโปร์ เช่นเดียวกัน

 

“แนวโน้มที่เกิดขึ้นเป็นความท้าทายประกาศสำคัญของการให้บริการทางการศึกษาทั้งในภาครัฐและเอกชน” พิเชฐ กล่าว

 

จากปัจจุบันมีโรงเรียนราว 30,000 แห่งในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ส่วนระดับอาชีวศึกษาหรือสายอาชีพ จำนวน 400 แห่ง และโรงเรียนขนาดเล็ก (มีจำนวนผู้เรียนราว 120 คน) ประมาณ 15,000 แห่ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีแผนยุบจำนวนโรงเรียนในสังกัด สพฐ แต่จะมุ่งวางแผนใช้เทคโนโลยีต่างๆ เป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาทักษะต่างๆ ในระบบการศึกษาของไทย ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กยังต้องติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อจัดการบริการรูปแบบใดต่อไปในอนาคต

 

พิเชฐ กล่าวว่าที่ผ่านมา ศธ. ได้วางนโยบายสร้างโรงเรียนคุณภาพประจำอำเภอ ‘1 อำเภอ 1 แห่ง’ ให้ครอบคลุม 1,800 อำเอทั่วประเทศ ที่ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 900 อำเภอ เพื่อเป็นต้นแบบดึงดูดเด็กไทยให้เข้าถึงระบบการศึกษาคุณภาพใกล้บ้าน

 

สำหรับความร่วมมือระหว่าง ศธ.และ  didacta asia 2025 ในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างเครือข่ายพันธมิตรนานาชาติทางการศึกษา เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีบทบาทในอนาคตด้วย ภายใต้ 6 ความท้าทาย ดังนี้

 

1.การเรียน การสอน ในทุกที่ทุกเวลา ผ่านสื่อสมัยใหม่, 2บทบาทครูผู้สอนจะเปลี่ยนเป็นผู้กระตุ้นและอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนเกิดความต้องการเรียนรู้ จากเดิมที่เป็นผู้บอกเล่าถ่ายทอดความรู้, 3.การเข้ามาของเทคโนโลยี โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีบทบาทในระบบการศึกษามากขึ้น

 

4. แนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตในทุกกลุ่มวัย, 5.ทักษะด้านภาษา อาทิ จีน, อังกฤษและ สเปน ที่จะมีความเข้มข้นในระบบการศึกษาไทยมากขึ้น, 6. การเปลี่ยนผ่านสู่การเรียนการสอนที่ยั่งยืน หรือ กรีน เอ็ดดูเคชัน ที่ทั้งผู้เรียนและผู้สอนให้ความสำคัญด้านจริยธรรมและคุณธรรม ไปพร้อมกัน

 

“แนวทางเหล่านี้ จะเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการในระบบการศึกษาของคนรุ่นใหม่อาจมองว่าไม่จำเป็นต้องมีใบปริญญา แต่จะต้องมีทักษะที่จำเป็นในการทำงานในอนาคต” พิเชฐ กล่าว

 

เรียนควบ Diploma ขยายตัว

 

ด้าน ผศ.ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รักษาการรองอธิการบดีจุฬาฯ และ เลขาธิการสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และเลขานุการสมาคมสถาบันการศึกษาขั้นอุดมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย (สออ.ประเทศไทย)  กล่าวว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิต ‘long life learning’ เป็นแนวคิดสำคัญที่ผลักดันให้ ตลาดการศึกษาโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัย ต่างๆในไทย ต่างเร่งปรับตัว เพื่อดึงดูดและเข้าถึงฐานกลุ่มผู้เรียนคนรุ่นใหม่ให้เกิดการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ในหลากหลายสาขา ทักษะวิชาชีพต่างๆที่ตนเองสนใจ โดยไม่จำกัดช่วงวัยเพื่อเข้ารับการศึกษา อีกต่อไป

 

“แนวโน้มคาดว่าตลาดการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย จะมีผู้สนใจเรียนในรูปแบบควบดิโพลม่า ประกาศนียบัตร ระหว่างคณะการศึกษ่าต่างๆ ที่ในปัจจุบันเริ่มมีมหาวิยาลัยบางแห่งได้นำคณะฯ พร้อมขยายหลักสูตรเพื่อนำรายวิชาการเรียนการสอน เปิดให้บริการรับผู้สนใจทั้งคณะอื่นๆ และจากภายนอกที่สนใจให้เข้ามาเรียนเพื่อเสริมทักษะใหม่ได้มากขึ้น”

 

อนึ่ง จากแนวโน้มดังกล่าว ผลักดันให้พันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนเครือข่ายการศึกาษานานาชาติ เตรียมการจัดงาน didacta asia 2025 งานมหกรรมการศึกษาและประชุมสัมมนา ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด Gateway to Tomorrow’s Education เพื่ออัปเดทเทคโนโลยีพร้อมสร้างพันธมิตรทางธุรกิจในการพัฒนาการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเตรียมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม 2568 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

 

 

Alternate-X สรุปให้ 

แนวโน้มเด็กเกิดใหม่น้อยลงส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาไทยทั้งรัฐและเอกชน ทำให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเน้นพัฒนาทักษะมากกว่าใบปริญญา รองรับแรงงานอนาคต การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้น มหาวิทยาลัยเริ่มเปิดหลักสูตรควบประกาศนียบัตรเพื่อยืดหยุ่นในการเรียนรู้
พร้อมจัดงาน didacta asia 2025 จะเป็นเวทีสร้างเครือข่ายการศึกษาเพื่ออนาคตของภูมิภาค

 

 

บทความล่าสุด

COLLABORATE IDEAS, CREATE SUCCESS


FOLLOW US

© 2024 Maxideastudio. All Rights Reserved.